ส่องประวัติ-ผลงาน “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” นั่งควบรองนายกฯ-รมว.คมนาคม

31 ส.ค. 2567 | 00:00 น.

เปิดประวัติ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” นั่งควบรองนายกฯ-รมว.คมนาคม ต่อ รับครม.ยุคแพทองธาร ดันผลงานนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท นำร่อง 2 เส้นทาง รุกเซ็นสัญญา “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ผ่านฉลุย

หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้หลุดพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมาจากคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญในคดีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญนั้น

ล่าสุดจนนำมาสู่การยุบสภาและเปลี่ยนผ่านรัฐบาลชุดใหม่ โดยขณะนี้มติในสภาได้มีการโหวตให้น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ปัจจุบันจากโผครม.ของน.ส.แพทองธาร พบว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ยังคงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นการควบทั้ง 2 ตำแหน่ง ตามเดิม

ประวัติ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ”

เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2497 ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเข้าศึกษาต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ซึ่งเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลเศรษฐา โดยนายสุริยะได้ศึกษาเป็นเวลาครึ่งปี

จากผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ทำให้นายสุริยะได้เปลี่ยนแผนไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศแทน จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมอุตสาหการ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2521

นอกจากนี้ยังเข้าศึกษาที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร(วปอ.) จนกระทั่งสำเร็จได้รับวุฒิปริญญาบัตรในปี 2538 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เข้าสู่ชีวิตทางการเมืองมีตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรก คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย

ปี พ.ศ. 2541 ในโควตาพรรคกิจสังคม ซึ่งการก้าวสู่เส้นทางทางการเมืองได้รับการเชื่อถือจากนายมนตรี พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งนายสุริยะได้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวงในช่วงที่นายสมศักดิ์ เทพสุทินดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

ในปี พ.ศ. 2544 มีการเลือกตั้ง นายสุริยะได้เข้าร่วมสังกัดพรรคไทยรักไทย ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค โดยนายสุริยะเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 12 เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2545 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคไทยรักไทย

มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งในพรรคไทยรักไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เข้าสู่ตำแหน่งเลขาธิการพรรคไทยรักไทย แทน ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์

ต่อมาในรัฐบาลยุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นนายสุริยะได้เข้ารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 – 17 มีนาคม พ.ศ. 2566

การเลือกตั้งครั้งล่าสุด พบว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 รองจากพรรคก้าวไกลได้ก้าวขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลแทน เนื่องจากพรรคก้าวไกล โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาคดีล้มล้างการปกครองจนนำมาสู่การยุบพรรคการเมือง

จากรัฐบาลเพื่อไทยภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสินสู่ยุคน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ยังคงผลักดันให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก้าวเข้ามานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อเดือนกันยายน 2566 จนถึงปัจจุบันและได้ควบอีก 1 ตำแหน่งเพิ่มเติม คือ รองนายกรัฐมนตรี 

ผลงาน "สุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ" 

ในยุครัฐบาลทักษิณ นายสุริยะ นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรม ในปี พ.ศ. 2544 ได้จัดตั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนารัฐวิสาหกิจให้เป็นองค์กรหลักในการกอบกู้เศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้ประเทศ รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย 

ในปี พ.ศ. 2545 ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร พร้อมด้วยนายสุริยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและนายชัก วิลเลียมสัน ประธานกรรมการบริษัทยูโนแคล คอร์ปอเรชั่น

ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กับบริษัท ยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด บริษัทมิตซุยออยล์ เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด

 และบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด จำนวน 2 ฉบับได้แก่ สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งเอราวัณและแหล่งยูโนแคล 2/3 ทั้งนี้ส่งผลให้เกิดการประหยัดเงินได้ 10,294 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 10 ปี
 

ขณะที่ผลงานที่สำคัญในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2545-2548 คือ การดูแลเรื่องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ อย่างการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย,การปราบปรามทุจริตในการจัดเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง

ในปี พ.ศ. 2545 การเร่งรัดการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ , การสนับสนุนให้มีการก่อสร้างระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายใต้ ตอน S1 , การเร่งรัดการเปิดดำเนินการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

 โครงการนักบินเอื้ออาทร จนถึงการเปิดเสรีการบินในประเทศไทย พัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ทาง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้มีมติเอกฉันท์ยกคำร้องกรณีคดีทุจริตเครื่องตรวจสัมภาระภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือ CTX9000 ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น

ปัจจุบันในยุครัฐบาลเศรษฐา นายสุริยะได้กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง โดยผลักดันผลงานชิ้นแรกกับนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ซึ่งนำร่อง 2 สาย ประกอบด้วย

รถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วง และจะดำเนินการให้รถไฟฟ้าทุกเส้นทางในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล สามารถใช้นโยบายนี้ได้ภายในเดือนกันยายน 2568 

ล่าสุดได้สร้างประวัติศาสตร์กับผลงานชิ้นโบว์แดง สำหรับการผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เข้าที่ประชุมครม. ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากครม.

จนนำมาสู่การลงนามสัญญาระหว่าง รฟม.และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา