กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตรวจพบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “ผู้ที่ลงทะเบียนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสำเร็จแล้ว หากลบแอปทางรัฐออกจากมือถือ จะถูกตัดสิทธิ์รับเงินดิจิทัล” รองลงมาคือเรื่อง “ปริมาณน้ำในปี 2567 มากกว่าปี 2565”
โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสับสน เข้าใจผิด และส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 23 – 29 สิงหาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 844,159 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 295 ข้อความ
.
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 283 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 12 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 214 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 123 เรื่อง
ทั้งนี้ กระทรวง ดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 85 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 42 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 8 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 12 เรื่อง
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 67 เรื่อง
นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความมั่นคง ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการของรัฐบาล อย่างโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” และข่าวที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัย น้ำท่วม รวมถึงข่าวที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ ถึง 6 อันดับ โดยเป็นข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชน ขณะที่ข่าวอื่นๆ เป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ผู้ที่ลงทะเบียนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสำเร็จแล้ว หากลบแอปทางรัฐออกจากมือถือ จะถูกตัดสิทธิ์รับเงินดิจิทัล
อันดับที่ 2 : เรื่อง ปริมาณน้ำในปี 2567 มากกว่าปี 2565
อันดับที่ 3 : เรื่อง น้ำจาก จ.พะเยา จะไหลลงมาหนุนฝายแม่ยม จ.แพร่ ทำให้น้ำล้นฝาย
อันดับที่ 4 : เรื่อง หากลงทะเบียน Digital wallet จะถูกโทรหาด้วยหมายเลขโทรศัพท์ 15 หลัก
อันดับที่ 5 : เรื่อง หากไม่ใส่กางเกงในจะทำให้เป็นไส้เลื่อน
อันดับที่ 6 : เรื่อง ตำแหน่งสิวสามารถบอกโรคได้
อันดับที่ 7 : เรื่อง ท่าอากาศยานดอนเมือง เปิดเพจเฟซบุ๊ก Don Mueang International
อันดับที่ 8 : เรื่อง เครื่องผลิตไข่ปลอม กำลังนำเข้าสู่ประเทศไทยตามชายแดน
อันดับที่ 9 : เรื่อง ไม่ใส่รองเท้าในพื้นที่ปูกระเบื้องหรือหินอ่อน จะทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง
อันดับที่ 10 : เรื่อง การบินไทยเปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ ชื่อ ThailandAirport
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่า เป็นข่าวเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐ และหน่วยงานของรัฐ มากถึง 6 อันดับ โดยเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” และข่าวแจ้งเตือนภัยน้ำท่วม อุทกภัย ถึง 4 อันดับ ซึ่งทั้งหมดมีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง อาจเกิดความเสียหายให้กับประชาชนเป็นวงกว้าง หากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว
สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “ผู้ที่ลงทะเบียนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตสำเร็จแล้ว หากลบแอปทางรัฐออกจากมือถือ จะถูกตัดสิทธิ์รับเงินดิจิทัล” เป็นข้อมูลเท็จ โดยกระทรวง ดีอี ได้ประสานงานกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ตรวจสอบและชี้แจงข้อมูลจริงว่า ผู้ที่ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ผ่านแอปทางรัฐ เรียบร้อยแล้ว จะถือว่าระบบได้รับข้อมูลการลงทะเบียนขอรับสิทธิ์โครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” แล้ว โดยการลบแอปฯ ทางรัฐ ออก จะทำให้ไม่สามารถรับแจ้งเตือน หรือแจ้งข่าวสารใด ๆ ที่เกี่ยวกับโครงการฯ ได้
ด้านข่าวปลอม อันดับ 2 “ปริมาณน้ำในปี 2567 มากกว่าปี 2565” พบว่าเป็น ข้อมูลเท็จ โดยกระทรวง ดีอี ได้ประสานงานร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า จากการตรวจสอบเปรียบเทียบปริมาณฝนปี 2565 กับปริมาณฝนปัจจุบันในปี 2567 รวมกับปริมาณฝน คาดการณ์จนสิ้นสุดฤดูฝน พบว่า ปริมาณฝนสะสมในช่วงฤดูฝนของปี 2565 มีค่า 1,438 มม. และของปี 2567 มีค่า 1,265 มม. ซึ่งมีค่าน้อยกว่า ดังนั้นสถานการณ์น้ำในปี 2567 จึงอาจไม่มากเท่าปี 2565
อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด