โครงการเติมเงิน 10000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ "เงินดิจิทัลวอลเล็ต" ตามนโยบายของรัฐบาล ยังต้องรอความชัดเจนว่ารัฐบาลใหม่ ภายใต้การบริหารประเทศของ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจว่าจะเดินต่อทางไหน แม้ที่ผ่านมานายกฯ คนที่ 31 จะยืนยันออกมาว่า ต้องทำต่อไป แต่ในเนื้อหารายละเอียดอาจต้องมีความชัดเจนและได้ฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง หลังจาก 1 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย และสภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป
อย่างไรก็ดีแม้ความชัดเจนในระดับนโยบายอาจยังไม่ชัดว่า การเดินหน้าต่อของโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท จะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขรายละเอียดอะไรตรงไหนหรือไม่ แต่ในด้านการเตรียมความพร้อมด้านแหล่งเงินเพื่อใช้ในโครงการนั้น ล่าสุดได้มีข้อสรุปเพิ่มเติมของแหล่งเงินอีกก้อนหนึ่งเพื่อนำมาใช้ในโครงการแล้ว
โดยอยู่ภายใต้ งบประมาณรายจ่ายปี 2568 โดยแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า เงินก้อนใหม่ล่าสุดนี้ เป็นเงินที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดสุดท้ายของอดีตนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ที่มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณ ในการขอเพิ่มและเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เพื่อนำมาใช้ดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท
โดยวงเงินที่สำนักงบประมาณเสนอมาขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณ ปี 2568 นั้น เป็นเงินที่ได้มาจากการปรับลดวงเงินงบประมาณรายจ่ายของรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง รวมกัน คิดเป็นวงเงินที่สามารถลดลงรวมเป็นเงินกว่า 35,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวระบุว่า หลังจากได้ความชัดเจนของวงเงินเพิ่มเข้ามาอีกก้อนหนึ่ง ทำให้การเตรียมวงเงินเพื่อใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต มีแหล่งเงินตุนเอาไว้รองรับโครงการอย่างชัดเจนแล้ว คิดเป็นกรอบวงเงิน 309,700 ล้านบาท โดยมาจากแหล่งเงินต่าง ๆ แยกเป็น
จากการตรวจสอบรายละเอียดของเปลี่ยนแปลงงบประมาณ โดยโอนงบประมาณที่ได้จากการรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง วงเงิน 35,000 ล้านบาท ซึ่งเงินงบประมาณส่วนนี้จะถูกนำไปตั้งเป็นงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ทั้งหมด 35,000 ล้านบาท หรือเป็นงบที่เตรียมเอาไว้ใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท โดยตรง
สำหรับรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 สำนักงบประมาณ แจ้งว่า ได้พิจารณาการเสนอขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ตามแนวทางและหลักเกณฑ์การเสนอขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายฯ ผ่านการเสนอขอลดงบประมาณรายจ่าย มาตรา 29 งบประมาณรายจ่ายของรัฐวิสาหกิจ วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย : ปรับลดวงเงินภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 330,380,600 บาท
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร : ปรับลดวงเงินภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์การเกษตรสร้างมูลค่า 31,322,379,300 บาท
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย : ปรับลดวงเงินภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 72,317,100 บาท
ธนาคารออมสิน : ปรับลดวงเงินภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 2,682,773,000 บาท
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ : ปรับลดวงเงินภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์มาตรการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม 592,150,000 บาท
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ ระบุไว้ในเอกสารว่าการดำเนินการดังกล่าว การขอเพิ่มงบประมาณรายจ่าย ตามมาตรา 6 โดยให้กำหนดไว้ภายใต้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการค่าใช้จ่าย เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ 35,000 ล้านบาท มีเหตุผลว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง 5 หน่วยรับงบประมาณ ได้พิจารณาทบทวนปรับลดงบประมาณในส่วนที่หมดความจำเป็น หรือสามารถชะลอการดำเนินการได้
เพื่อไปดำเนินการในงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายเม็ดเงินในพื้นที่ต่าง ๆ และเพื่อรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ประชาชาชนในการดำรงชีพ และประกอบอาชีพ อีกทั้งยังเป็นการรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป