นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในปี 2567 กนอ. สามารถขาย/เช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมได้ถึง 6,174 ไร่ (ต.ค.66 - ก.ค.67) ถือเป็นสถิติใหม่ (New High) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
ทั้งนี้ มีปัจจัยสำคัญมาจากความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่สูงมาก (High demand) โดยอีกเหตุผลหนึ่งมาจากความสามารถของภาคส่วนต่างๆ กนอ. และพันธมิตรในการดึงดูดนักลงทุน
รวมถึงเป็นแรงผลักดันให้ กนอ. พัฒนาประสิทธิภาพการบริการ และการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุน และบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ
เป้าหมายในการดึงดูดการลงทุนของ กนอ. สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ กนอ. และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการ จะพยายามคัดเลือกประเภทกิจการที่จะเข้ามาลงทุนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อว่า กนอ. จะร่วมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนได้
นายวีริศ กล่าวอีกว่า กนอ. ยังได้มีการปรับองค์กรสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้ในการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วยว่า กนอ. ทำ Digital Transformation มาตั้งแต่ช่วง Covid-19 โดยพยายามพัฒนาไปสู่ระบบ Big Data และ AI เพื่อช่วยวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญ รวมถึงระบบ Digital Twin เพื่อบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งขยายผลจากนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ไปยังนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. เอง 13 แห่ง นอกจากนี้ ยังกำหนดรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่สามารถตอบโจทย์ด้านการใช้ระบบสาธารณูปโภค ด้วยพลังงานสะอาดและคาร์บอนต่ำ หรือ Smart IE. รวมถึงพัฒนากลไกต่างๆ เพื่อบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกทั้งระบบ ที่สำคัญ กนอ. ยังดำเนินการจัดตั้ง I-EA-T Academy เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมให้มากที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ กนอ. กำลังดำเนินแคมเปญ NOW Thailand เพื่อกระตุ้นและตอกย้ำศักยภาพของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เชื่อว่าประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับนักลงทุนต่างชาติ กนอ.และทุกภาคส่วนจะร่วมกันพัฒนาศักยภาพของประเทศ โดยจะมุ่งเน้นดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศ รวมถึงพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป”