สรรพสามิตลุยภาษีคาร์บอน ชูมาตรการอีวีหนุนลงทุนกว่า 8 หมื่นล้าน

12 ก.ย. 2567 | 05:19 น.
อัพเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2567 | 05:20 น.

สรรพสามิตหนุนนโยบายรัฐ ศึกษา “ภาษีคาร์บอน” เรียบร้อย หวังลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40% อีก 6 ปีข้างหน้า ชูมาตรการส่งเสริมอีวี หนุนเอกชนต่างประเทศลงทุนไทยกว่า 8 หมื่นล้านบาท

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้ศึกษาการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เรียบร้อยแล้ว เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่แถลงต่อรัฐสภาฯ เรื่องการนำไปสู่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศไทยได้ลงนามอนุสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40% ในอีก 6 ปีข้างหน้า โดยภาษีคาร์บอนจะเป็นส่วนแรกที่ทำให้ประเทศไทยไปสู่จุดนั้น และจะช่วยให้เป็นมาตรฐานสากล

“จากข้อเสนอที่ได้คุยเบื้องต้น เราเน้นย้ำว่าจะไม่ให้กระทบประชาชน จะแปลงภาษีน้ำมันเป็นภาษีคาร์บอน เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐ”

นอกจากนี้ กรมยังอยู่ระหว่างขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี โดยเงื่อนไขที่กรมให้ เราลดภาษีจาก 8% เหลือ 2% ส่งผลให้กรมสูญรายได้จากการจัดเก็บภาษี แต่เงื่อนไขที่กรมตั้งไว้ คือ ผู้ประกอบการที่มารับเงื่อนไขการลดภาษีดังกล่าว จะต้องมาตั้งโรงงานฐานผลิตในประเทศไทย รวมทั้งผลิตชดเชยสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย

“มาตรการดังกล่าว ส่งเสริมให้เกิดฐานผลิตในเมืองไทย ขณะนี้มีบริษัทในหลายสัญชาติ ย้ายฐานการผลิตรถอีวีมาเมืองไทย รวมถึงโรงงานแบตเตอรี่ มีเม็ดเงินการลงทุนแล้วว่า 8 หมื่นล้านบาท”

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การผลักดันภาษีคาร์บอนของกรมสรรพสามิตนั้น จะช่วยให้มีกลไกราคาคาร์บอนเข้าไปอยู่ในน้ำมัน หรือพลังงานที่กรมจัดเก็บ โดยในเก็บภาษีคาร์บอนจากน้ำมันในช่วง 2 ปีแรก ไม่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างแน่นอน

“ยกตัวอย่างการจัดเก็บภาษี เช่น น้ำมันดีเซล 6.44 บาทต่อลิตร อนาคตจะเห็นราคาคาร์บอนอยู่ในนั้น ซึ่งในมาตรฐานโลกที่เก็บภาษีคาร์บอน เขาเก็บจากน้ำมันดีเซล 1 ลิตร ที่ปล่อยคาร์บอน 0.0027 ตันคาร์บอน ฉะนั้น เมื่อเราเติมน้ำมันดีเซล 1 ลิตร จะรู้เลยว่าปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร่”

ทั้งนี้ ประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีคาร์บอน คือ โรงงานอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปยังยุโรป เช่น โรงเหล็ก ซึ่งปัจจุบันซื้อน้ำมันเพื่อไปหลอมเหล็กแล้วส่งออกไปยังต่างประเทศ ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างเจรจากับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือกับยุโรป ให้สามารถนำการเสียภาษีคาร์บอนจากกรมสรรพสามิต ไปหักกลบภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนไปยุโรปได้

นอกจากนี้ กรมสรรพามิตได้ศึกษาทบทวนโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ เนื่องจากปัจจุบัน แบตเตอรี่ครอบคลุมการใช้งานในหลายภาคส่วน เช่น เป็นที่กักเก็บไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานทดแทน ปัจจุบันกรมเก็บภาษีดังกล่าว ที่อัตรา 8% ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่คุณภาพดี สามารถนำมารีไซเคิลได้ ก็คิดอัตราในเรทเดียวกัน