การแถลงนโยบายของรัฐบาลแพทองธารต่อรัฐสภา ระหว่างวันที่12-13 กันยายน มี 10 นโยบายเร่งด่วน ประกาศทำทันที ซึ่งเป็นที่น่าจับตาโดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงคมนาคมที่เป็นเรื่องของการลงทุนสร้างพื้นฐาน
โครงการขนาดใหญ่ เชื่อมการเดินทางแบบไร้รอยต่อ บก-ราง-นํ้า-อากาศ โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแถลงนโยบาย สานต่อมาจากรัฐบาลเศรษฐา ซึ่งมีหลายโครงการสำคัญ
ที่ประชาชนตั้งตาคอย คงหนีไม่พ้น รถไฟฟ้า20บาทตลาดสายปัจจุบันได้ดำเนินการแล้ว 2 เส้นทางและประสบความสำเร็จมีประชาชนเข้าใช้เพิ่มขึ้น ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง
ที่นำร่องมาตั้งแต่ปี2566 และมีเป้าหมาย ดำเนินการให้ครบตามจำนวนที่เปิดให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น สายสีเหลือง สายสีชมพู สายสีทอง สายสีเขียว รวมถึงสายสีนํ้าเงิน แต่ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังต้องตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขึ้น
เพื่อมีเงินดำเนินการอย่างลื่นไหล ซึ่งประเมินว่าจะใช้เงินไม่ตํ่ากว่า 16,000ล้านบาทต่อปี เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ได้หาเสียงไว้และสอดรับกับวิสัยทัศน์ของดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พูดในงาน “Dinner Talk Vision for Thailand 2024” จัดโดยเนชั่น
นอกจากนี้ยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องสายต่อ ได้แก่ โครงการแลนด์บริดจ์มูลค่า1ล้านล้านบาท หรือ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง
เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน) เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม
เชื่อมโยง 2 ท่าเรือส่งเสริมการขนส่งทางนํ้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และมีเป้าหมายผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือระดับโลก
ที่ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมาก และอยู่ในขั้นตอน ผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
โครงการที่เรียกเสียงฮือฮามาระยะหนึ่งคงหนีไม่พ้นโครงการ “เอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์” และกาสิโนถูกกฎหมาย ตามนโยบายรัฐบาลแพทองธาร ที่สานต่อมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว
เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ และกระทรวงคมนาคมได้ขานรับนโยบายโดยมองท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเรือคลองเตย ที่มีแผนพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ติดแม่นํ้าเจ้าพระยา มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท
อาจจะมี “เอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์” และกาสิโนถูกกฎหมาย เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ ซึ่งเป็นหนึ่งในทำเลเป้าหมายตามที่ ดร.ทักษิณได้โชว์วิสัยทัศน์ไว้
นอกจากนี้ ยัง มีนโยบายเร่งผลักดัน 3 บิ๊กโปรเจ็กต์ลงทุน วงเงิน 1.09 แสนล้านบาท เชื่อมโครงข่ายการเดินทาง ที่นายสุริยะ ระบุว่า เป็น โครงการลงทุนที่กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร จำนวน 3 โครงการวงเงินรวม 109,802 ล้านบาท
ประกอบด้วย
1.โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงรังสิต- มธ.ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,473 ล้านบาท
2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือ มอเตอร์เวย์ หมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทรลล์เวย์) วงเงิน 31,358 ล้านบาท
3.โครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 9 ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 38 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาทและ ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 35 กม. วงเงิน 15,936ล้านบาท
ที่ระบุว่า ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 จนถึงปัจจุบัน ได้ครบ 1 ปีของการปฏิบัติภารกิจและดำเนินนโยบายต่าง ๆ ด้านการคมนาคมขนส่ง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ยกระดับการให้บริการในระบบคมนาคมขนส่งทุกด้าน เพื่อต้องการให้เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน และเป็นรูปธรรม ทั้งทางบก ทางราง ทางนํ้า และทางอากาศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
ปัจจุบันมีหลายโครงการที่กระทรวงคมนาคมเร่งรัดผลักดันเสนอต่อครม. แพทองธารพิจารณาเห็นชอบภายในการประชุมครั้งแรก ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงเคยเสนอต่อครม.ไปก่อนหน้านี้แล้ว
แต่ถูกสำนักเลขานายกรัฐมนตรีตีกลับมา เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ ทำให้กระทรวงมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องนำเสนอกลับไปอีกครั้ง
รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรือวงแหวนอันดามัน จำนวน 4 โครงการ งบประมาณรวม 740 ล้านบาท กรมเจ้าท่าได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2567 จำนวน 360 ล้านบาท เพื่อดำเนิน 2 โครงการ ได้แก่
1.โครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือมาเนาะ ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา งบประมาณ 175 ล้านบาท (งบผูกพัน 3 ปี ปี 2567 - 2569)
2.โครงการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือช่องหลาด ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา งบประมาณ 185 ล้านบาท (งบผูกพัน 3 ปี ปี 2567 - 2569) ซึ่งสถานะทั้ง 2 โครงการ อยู่ระหว่างหาจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าเริ่มก่อสร้างในปี 2567 แล้วเสร็จในปี 2569 ระยะเวลาดำเนินการ 900 วัน
ยังไม่รวมรถไฟทางคู่ อีกจำนวนหลายเส้นทาง และรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคายฯลฯ อย่างไรก็ตามต้องจับตามองว่า โครงการการในมือของนายสุริยะ ว่าจะขับเคลื่อนได้เร็วขนาดไหน แต่ที่แน่ๆ ผู้รับเหมา กางแผนรออยู่ก่อนแล้ว !!!
เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8 ฉบับที่ 4,027 วันที่ 15 - 18 กันยายน พ.ศ. 2567