ปูเสื่อรอ "คมนาคม" ลุย "นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท" ทุกสาย-ทุกสี

13 ก.ย. 2567 | 03:38 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2567 | 03:45 น.

"สามารถ" ลุ้น คมนาคมเดินหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายทุกสี ห่วงตั้งกองทุนอุดหนุนชดเชยเอกชน 8 พันล้านบาทต่อปี หวั่นแบกภาระหนักซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืน

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า น่าตื่นเต้นที่กระทรวงคมนาคมจะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า “ทุกสายทุกสี” 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2568 เป็นต้นไป

แย้มว่ามีเงินชดเชยให้เอกชนผู้รับสัมปทานได้ 2 ปี จนสิ้นสุดวาระของรัฐบาลนี้ จะทำได้จริงหรือไม่ และหลังจาก 2 ปีผ่านไปแล้ว รัฐบาลหน้าจะหาเงินมาจากไหนต้องติดตาม

ค่าโดยสารรถไฟฟ้า “ทุกสายทุกสี” 20 บาทตลอดสาย หมายความว่าผู้โดยสารจ่ายเพียง 20 บาท จะขึ้นลงรถไฟฟ้าสายไหน สีไหน กี่เที่ยวก็ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ภายใน 2 ชั่วโมง เป็นต้น

หลังจากมีการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง 20 บาทตลอดสาย มาตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 ผ่านไปเกือบ 1 ปีแล้ว

กระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะใช้อัตราค่าโดยสารนี้ให้ครอบคลุมรถไฟฟ้าทุกสายทุกสี ไม่เฉพาะสายสีแดงและสายสีม่วงที่เป็นการลงทุนโดยภาครัฐ 100% ซึ่งสามารถลดค่าโดยสารได้ง่าย เพราะไม่กระทบต่อรายได้ของเอกชนดังเช่นรถไฟฟ้าสายที่มีเอกชนร่วมลงทุน

ในกรณีรถไฟฟ้าสายที่มีเอกชนร่วมลงทุน หากกระทรวงคมนาคมจะลดค่าโดยสารเหลือ 20 บาทตลอดสาย รายได้ของเอกชนจะลดลง เป็นผลให้รัฐจะต้องชดเชยรายได้ส่วนที่ลดลงคืนให้เอกชน มิฉะนั้น เอกชนจะไม่ยอมลดค่าโดยสารแน่นอน

กระทรวงคมนาคมคำนวณว่าจะต้องชดเชยรายได้ให้เอกชนปีละประมาณ 8 พันล้านบาท แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะพอ คาดว่าจะต้องใช้เงินมากกว่าปีละ 8 พันล้านบาท

ดร.สามารถ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมแจงว่าในขณะนี้มีเงินพอที่จะชดเชยเอกชนได้ 2 ปี เป็นเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้เงินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นเงินส่วนแบ่งรายได้จากการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยได้รับส่วนแบ่งมาจากเอกชนผู้รับสัมปทาน

ผมได้ตรวจสอบส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าวแล้ว พบว่าตั้งแต่ปีแรกที่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินคือปี 2547 รฟม.มีส่วนแบ่งรายได้ ดังนี้

(1) ถึงสิ้นปี 2566 มีส่วนแบ่งรายได้ 17,705 ล้านบาท

(2) ถึงสิ้นปี 2567 มีส่วนแบ่งรายได้ 21,517 ล้านบาท (ตัวเลขประมาณการ)

(3) ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2568 (ก่อนเริ่มเก็บ 20 บาท ทุกสายทุกสีในเดือนกันยายน 2568) มีส่วนแบ่งรายได้ 24,860 ล้านบาท (ตัวเลขประมาณการ)

ด้วยเหตุนี้ หากจะต้องชดเชยให้เอกชนปีละ 8 พันล้านบาทจริง ก็มีเงินใช้พอประมาณ 3 ปี แต่ผมคาดว่าจะต้องชดเชยให้เอกชนมากกว่าปีละ 8 พันล้านบาท และคาดว่าจะสามารถชดเชยให้เอกชนได้ปีเศษถึง 2 ปีเท่านั้น

หลังจากนั้น กระทรวงคมนาคมจะหาเงินมาจากไหน เพราะเมื่อเริ่มใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสายกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินแล้ว รฟม.จะไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากเอกชนอีกต่อไป มีแต่จะต้องชดเชยรายได้ให้เขาเท่านั้น

อีกทั้ง หากกระทรวงคมนาคมต้องการจะซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชนจะต้องใช้เงินอีกก้อนใหญ่ ดูไปแล้วกระทรวงคมนาคมจะต้องแบกภาระทางการเงินหนักจริงๆ

จะหาเงินจากการเก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจซึ่งมีรถติดที่เรียกกันว่าค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge หรือ Congestion Pricing) ตามที่กระทรวงคมนาคมคิดไว้ก็ยากที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

ที่สำคัญ หากกระทรวงคมนาคมจะซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน จะต้องเลิกขยายสัมปทานให้เอกชนทุกราย รวมทั้งเอกชนผู้รับสัมปทานทางด่วนด้วย เพื่อทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าและค่าผ่านทางด่วนถูกลง เป็นการลดภาระค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน

โดยสรุป ผมเห็นด้วยที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง แต่ผมยังไม่แน่ใจหรือยังมีคำถามทดังนี้

(1) จะเริ่มเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายทุกสี 20 บาทตลอดสาย ได้ทันเดือนกันยายน 2568 เป็นต้นไปจริงหรือ

(2) การคำนวณเงินชดเชยรายได้ให้เอกชนปีละ 8 พันล้านบาท ถูกต้องหรือไม่ ประเด็นนี้คงไม่ง่ายที่จะเจรจาตกลงกันได้ เพราะจะต้องคำนวณหารายได้ที่ลดลงของเอกชนแต่ละรายให้เป็นที่ยอมรับของทั้งกระทรวงคมนาคมและเอกชนผู้รับสัมปทาน

(3) จะทำอย่างไรให้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ยั่งยืน ไม่ใช่ทำได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ แค่เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น

ปูเสื่อรอ \"คมนาคม\" ลุย \"นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท\" ทุกสาย-ทุกสี

ทั้งหมดนี้ อยากให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกปัจจัยอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดที่จะทำให้นโยบายเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า “ทุกสายทุกสี” 20 บาทตลอดสาย ล้มเหลว และที่สำคัญ จะต้องไม่ทำให้คนที่ปูเสื่อรอต้องผิดหวัง