ผ่าสมรภูมิรบ“ฟู้ดเดลิเวอรี” สะพัด SCBX ดีลขาย Robinhood ให้“ยิบอินซอย”

16 ก.ย. 2567 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2567 | 01:49 น.

สงคราม“ฟู้ดเดลิเวอรี”ไม่เคยหยุดนิ่ง Grab โต้ข้อมูลบริษัทที่ปรึกษา ออกรายงานวิจัย LINE MAN แซงหน้าครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง ฟู้ดเดลิเวอรี ที่ 44% ขณะที่วงการสะพัด SCBX ดีลขายกิจการแอป Robinhood ให้บริษัทไอทีชื่อดัง “ยิบอินซอย”

ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี (Food Delivery) ปี 2567 มีแนวโน้มการชะลอตัว  ภายหลังจากสถานการณ์โควิด คลี่คลาย คนกลับไปเดินห้าง  และเข้าร้านอาหารมากขึ้น   โดยข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2567 ตลาด Food Delivery จะมีมูลค่าราว 8.6 หมื่นล้านบาท หดตัว 1.0% จากปี 2566 แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้งน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น (Price per Order) ประมาณ 2.8% จากค่าเฉลี่ยในปี 2566 หรือมีราคาเฉลี่ยประมาณ 185 บาทต่อครั้งของการสั่ง ซึ่งจะมีผลตามมาต่อทั้งจำนวนครั้งและปริมาณการสั่งให้ลดลง

ผ่าสมรภูมิรบ“ฟู้ดเดลิเวอรี” สะพัด SCBX ดีลขาย Robinhood ให้“ยิบอินซอย”

โดยการขับเคี่ยวในสมรภูมิฟู้ดเดลิเวอรี (Food Delivery) เป็นของ 2 รายใหญ่  คือ  Grab  ที่อยู่ในตลาดมา 10 ปี  มีฐานผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก    และมีพาร์ทเนอร์คนขับ  และพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร  ครอบคลุมทั่วประเทศ  ที่สำคัญ มีกำไร 2 ปีที่ติดต่อกัน (ปี65-66)   อีกรายคือ   LINE MAN Wongnai  ที่อยู่ในตลาดมาเกือบ 10 ปี  เป็นแพลตฟอร์มด้านอาหารครบวงจรที่ครอบคลุมทั้งผู้ใช้ ร้านอาหาร และบริการส่งอาหาร เริ่มตั้งแต่ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลและรีวิวร้านอาหารบน Wongnai จากนั้นกดสั่งอาหารเดลิเวอรีผ่าน LINE MAN และร้านอาหารสามารถรับออเดอร์เดลิเวอรีผ่านระบบจัดการร้านอาหาร Wongnai POS (Restaurant Solutions)

ล่าสุดเกิดกระแสดราม่าเมื่อ Redseer Strategy Consultants บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์จากประเทศอินเดีย  ออกมาระบุว่า LINE MAN Wongnai   มีส่วนแบ่งตลาดฟู้ด เดลิเวอรี ไทย 44%  แซงหน้า Grab  ที่มีส่วนแบ่งตลาด 40%   อย่างไรก็ตามแกร็บ ได้ออกมาตอบโต้ผลการวิจัยดังกล่าว โดยระบุว่า Grab ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลทางธุรกิจหรือการทำธุรกรรมใดๆ ของ Grab ให้กับบริษัทดังกล่าวมาก่อน และไม่เคยเปิดเผยจำนวนธุรกรรมหรือยอดการใช้บริการ (Number of Transaction) ของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ให้แก่บุคคลภายนอก  ขอให้บริษัทที่ปรึกษาดังกล่าวชี้แจงที่มาข้องานวิจัยชิ้นนี้  และพร้อมดำเนินคดีตามกฎหมาย 

ส่วนที่กำลังเคลื่อนไหวสำคัญในแวดวง ฟู้ดเดลิเวอรี อีกเรื่องหนึ่งคือ  การขายแอป Robinhood ที่ขาดทุนสะสม 4 ปีของการเปิดให้บริการ  5.5  พันล้านบาท  ของกลุ่ม SCBX    โดยที่ผ่านมาปรากฎชื่อของ กลุ่มไทยเบฟ   ที่จะเข้ามาซื้อกิจการ   แต่ท้ายสุด ไทยเบฟ ออกมาปฎิเสธข่าวดังกล่าว   ล่าสุดคนในแวดวงการเงินออกมาระบุว่า  กลุ่ม SCBX   กำลังเจรจาขายกิจการแอป Robinhood  บริษัทไอทีชื่อดังอย่าง “ยิบอินซอย”   

โดย”ฐานเศรษฐกิจ”ได้ติดต่อสอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังบริษัทยิบอินซอย จำกัด   อย่างไรก็ตามไม่ได้รับการยืนยัน หรือ ปฎิเสธ  ต่อกระแสข่าวดีลที่เกิดขึ้น   โดยได้รับแจ้งว่าหากมีความคีบหน้าจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง       

ทั้งนี้จากการรวบรวมผลประกอบการของของผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีรายใหญ่ในไทย 4 ราย ประกอบด้วย Grab, LINE MAN Wongnai   , Robinhood และ foodpanda พบว่า มีเพียง Grab รายเดียวที่สามารถทำกำไรได้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยข้อมูลจากครีเดน ดาต้า ระบุว่า Grab ที่จดทะเบียนภายใต้ชื่อ บริษัท แกร็บ แท็กซี่ ประเทศไทย จำกัด มีรายได้ในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ 10 ของการดำเนินธุรกิจในไทย อยู่ที่ 15,197 ล้านบาท และ มีกำไร 576 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2566 Grab มีรายได้ 15,622 ล้านบาท และมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 1,308 ล้านบาท

ส่วน LINE MAN Wongnai    ที่จดทะเบียนภายใต้ชื่อ บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด นั้นในปี 2565 มีรายได้ 7,802 ล้านบาท และขาดทุน 2,730 ล้านบาท ส่วนในปี 2566 มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 11,634 ล้านบาท และเริ่มขาดทุนลดลงเหลือ 253 ล้านบาท ขณะที่ foodpanda ที่จดทะเบียนภายใต้ชื่อ บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ ประเทศไทย จำกัด นั้นในปี 2565 มีรายได้ 3,628 ล้านบาท ขาดทุน 3,255 ล้านบาท และปี 2566 มีรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 3,843 ล้านบาทและขาดทุนลดลงเหลือ 522 ล้านบาท

ปิดท้ายด้วย Robinhood ที่จดทะเบียนในนามของ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ในกลุ่ม SCBX ในปี 2565 มีรายได้ 538 ล้านบาท ขาดทุน 1,986 ล้านบาทและในปี 2566 มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 724 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 2,155 ล้านบาท ซึ่งหากมองย้อนหลังกลับตลอด 4 ปีที่เปิดให้บริการแอป Robinhood บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ จำกัด มียอดขาดทุนสะสมกว่า 5,565 ล้านบาท