บิ๊กโปรเจ็กต์ ชงครม.แพทองธาร 16 โครงการ 1.8 ล้านล้าน

19 ก.ย. 2567 | 22:00 น.

“คมนาคม” ทะลวงขุมทรัพย์ 16 บิ๊กโปรเจ็กต์ 1.81 ล้านล้านบาท ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศหลังแบ่งงานลงตัว เดินหน้าชงครม.แพทองธารไฟเขียว เตรียมปักธงประมูล ดึงเอกชนร่วมทุน PPP มอเตอร์เวย์-ไฮสปีด- แลนด์บริดจ์ พบ 4 บิ๊กโปรเจ็กต์จ่อสะดุด เร่งปิดดีลเจรจาเซ็นสัญญาเอกชน

KEY

POINTS

  •  “คมนาคม” ทะลวงขุมทรัพย์ 16 บิ๊กโปรเจ็กต์ 1.81 ล้านล้านบาท ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ หลังแบ่งงานลงตัว
  • เดินหน้าชงครม.แพทองธารไฟเขียว เตรียมปักธงประมูล ดึงเอกชนร่วมทุน PPP มอเตอร์เวย์-ไฮสปีด- แลนด์บริดจ์
  • พบ 4 บิ๊กโปรเจ็กต์จ่อสะดุด ลุยอัดฉีดงบเสริมสภาพคล่อง เร่งปิดดีลเจรจาเซ็นสัญญาเอกชน ยักษ์รับเหมาคึกจ่อชิงเค้ก

การลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญที่ทุกรัฐบาลใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และกระจายเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก

ล่าสุดกระทรวงคมนาคม โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เร่งสานต่อโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่อจากรัฐบาลเศรษฐา ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลแพทองธารให้ความสำคัญและผลักดันโครงการให้เดินหน้าต่อ

ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง แรงงาน วัสดุก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้รับอานิสงส์ จากการจับจ่าย ช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศหรือจีดีพีขยายตัวไปข้างหน้า ซึ่งแต่ละปีรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณลงทุนโครงการขนาดใหญ่เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท แต่มีโครงการจำนวนมากที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นจากความจำเป็นเร่งด่วน

ทั้งโครงการแลนด์บริดจ์ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นหัวใจรวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย โครงข่ายถนน 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ปรับโครงสร้างแบ่งงานให้กับสองรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ช่วยกำกับดูแล โดยมีบางหน่วยงานที่ นายสุริยะขอดูแลเองคือการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติแต่งตั้ง นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าฯรฟท.) จึงประเมินได้ว่านายสุริยะจะให้ความสำคัญกับระบบราง ไม่แพ้โครงข่ายอื่น

 ดัน4โครงการด่วนแสนล้าน

นายสุริยะ ย้ำว่า กระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดเสนอโครงการสำคัญต่อที่ประชุมครม.พิจารณาเห็นชอบได้เร็วๆนี้ สำหรับโครงการที่จะเสนอเข้ามาครั้งนี้ เป็นโครงการที่เคยเสนอต่อครม.ไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ถูกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตีกลับมา เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ ทำให้กระทรวงมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องนำเสนอกลับไปอีกครั้งจำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 144,802 ล้านบาท ประกอบด้วย

โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงรังสิต- มธ.ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,473 ล้านบาท โครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทล์ลเวย์) วงเงิน 31,358 ล้านบาท

โครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 9 ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 38 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาทและ ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 35 กม. วงเงิน 15,936 ล้านบาท โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) วงเงิน 35,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่จะเสนอขออนุมัติ ทั้งกฎหมาย การเงินและบริหารจัดการ โดยกระทรวงคมนาคมจะเสนอเป็นวาระพิจารณาต่อครม. ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ....

อย่างไรก็ตามหากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว เชื่อว่า จะทำให้กระทรวงคมนาคมสามารถเดินหน้าตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายได้ครอบคลุมทุกสายทุกเส้นทาง

 เปิดขุมทรัพย์ 1 6โปรเจ็กต์ 1.81 ล้านล้าน

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบพบ กระทรวงคมนาคมมีโครงการที่เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติและเตรียมพร้อมที่จะเปิดประมูล จำนวน 16 โครงการ มูลค่ารวม 1.81 ล้านล้านบาท

เริ่มจาก กรมทางหลวง (ทล.) มีโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ที่เร่งรัดเสนอต่อครม.พิจารณา จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 120,103 ล้านบาท ประกอบด้วย  โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 24.7 กม. วงเงิน 15,724 ล้านบาท

ปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ได้ในช่วงที่นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย จะเข้ามารับช่วงต่อเป็นอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) คนใหม่แทนนายสราวุธ ทรงศิวิไล ที่จะเกษียณอายุราชการภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

ตามด้วย โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 5 ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน หรือส่วนต่อขยายดอนเมืองโทล์ลเวย์ ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 31,358 ล้านบาท ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้เสนอโครงการฯ ต่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อบรรจุวาระเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าครม.จะเห็นชอบได้ภายในปีนี้ 

หลังจากนั้นทล. จะดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำเอกสารการประกาศประกวดราคา (RFP) และเปิดประมูลได้ภายในปี 2568 คาดว่าจะลงนามสัญญาพร้อมก่อสร้างได้ภายในปี 2569 ระยะเวลาการก่อสร้าง 4 ปี ซึ่งโครงการฯจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572

เช่นเดียวกับ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 หรือ M9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท ใช้รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost เป็นเส้นทางแรก ซึ่งเป็นไปตามการศึกษาที่พบว่า มีความคุ้มค่าที่เอกชนจะลงทุน 100%

 โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 หรือ M9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 35 กม. วงเงิน 16,986 ล้านบาท เบื้องต้นทล.จะดำเนินการเอง โดยเสนอขอใช้เงินกู้ก่อสร้างงานโยธาและใช้เงินจากกองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางมอเตอร์เวย์ ติดตั้งระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง รวมถึงบริหารจัดการ อำนวยความสะดวกและปลอดภัยและซ่อมบำรุง

ขณะที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ. ) มีโครงการที่เตรียมความพร้อมเสนอต่อครม.เห็นชอบภายในปีนี้ จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 28,600 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง ระยะทางรวม 3.98 กม. วงเงิน 15,000 ล้านบาท

โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 สายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทางรวม 6.7 กม. วงเงิน 13,600 ล้านบาท ทั้งนี้ตามแผนทั้ง 2 โครงการ หากครม.เห็นชอบแล้วจะเปิดประมูลต่อไป คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2568

มอบผู้ว่าฯรฟท.ใหม่ ลุย 9 ระบบราง

ขณะรฟท. นายสุริยะ เตรียมมอบนโยบายให้ผู้ว่ารฟท.คนใหม่เร่งผลักดันโครงการลงทุนของรฟท. จำนวน 9 โครงการ วงเงิน 661,060 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วง รังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,473 ล้านบาท

ปัจจุบันได้เสนอต่อครม.เพื่อขอทบทวนมติครม.และปรับกรอบวงเงิน หลังจากในช่วงที่ผ่าน มารฟท. ได้สรุปผลการศึกษาและเสนอ ครม.ไป แล้ว แต่มีการดึงเรื่องกลับมาปรับแก้ไขใหม่เพื่อความรอบคอบ

โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทางรวม 20.5 กม. วงเงิน 15,176 ล้านบาท ที่ผ่านมา รฟท.ได้มีการศึกษาควบรวม 2 เส้นทางไว้ด้วยกัน ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณลดลง 110 ล้านบาท

โครงการไฮสปีด ไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงิน 341,351 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธา 235,129 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน 10,310 ล้านบาท ค่าลงทุนระบบราง-ระบบรถไฟฟ้า และเครื่องกล 80,165 ล้านบาท

ปัจจุบันประเทศจีนต้องการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายนี้ไปสู่ภูมิภาค เมื่อไทยมีการก่อสร้างโครงการไฮสปีดในระยะที่ 1 แล้ว จำเป็นต้องก่อสร้างต่อในระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดศักยภาพการขนส่งทางระบบราง

บิ๊กโปรเจ็กต์ ชงครม.แพทองธาร 16 โครงการ 1.8 ล้านล้าน

จี้สศช.อนุมัติ ไฮสปีดไทย-จีนเฟส 2

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) หารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่ออนุมัติไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2 ได้เร็วขึ้น คาดว่าสศช.จะอนุมัติโครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 ภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นจะเสนอต่อครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งตามกระบวนการจะเริ่มเปิดประมูลงานโยธาได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2568

 หลังจากนั้นจะพิจารณาการเปิดประมูลเดินรถในรูปแบบ PPP ควบคู่การก่อสร้างงานโยธา ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2571

นอกจากนี้ยังมี โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 81,143 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 30,422 ล้านบาท  โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 66,270 ล้านบาท

โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 68,222 ล้านบาท  โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 44,103 ล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,900 ล้านบาท

ยักษ์รับเหมาคึกจ่อชิงเค้ก

ขณะด้านบริษัทรับเหมาก่อสร้างมีรายงานว่า จะได้อานิสงส์โดยตรง จากการประมูลโครงการและประเมินว่า ผู้รับเหมารายใหญ่จะคว้างานได้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมองในภาพรวมจะส่งผลดี เนื่องจากรายใหญ่มักมีสภาพคล่องที่ดีและจะกระจายงานต่อไปยังผู้รับเหมารายย่อย เกิดการจ้างงาน การจับจ่าย จากการเบิกจ่ายงบประมาณหลายตลบ