รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทตามนโยบายของรัฐบาลอาจมีความล่าช้าออกไป ยิ่งล่าช้ามากเท่าไหร่ย่อมทำให้แรงงาน ระดับล่างทักษะต่ำแรกเข้าต้องก่อหนี้เพิ่มให้มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีพและเลี้ยงดูครอบครัวเพิ่มขึ้น
แรงงานระดับล่างทักษะต่ำส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกในครัวเรือนที่อัตราการพึ่งพิงสูง แรงงานส่วนใหญ่ของไทยเวลานี้เป็น Sandwich Generation เป็นกลุ่มคนที่ต้องดูแลพ่อแม่สูงอายุไม่ได้ทำงานพร้อมกับดูแลลูกด้วยในขณะเดียวกัน
แรงงานกลุ่มนี้จะไม่มีเงินออมเลย จะมีแต่หนี้สินเนื่องจากมีรายจ่ายเกินกว่ารายได้มาก การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงเพียงช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจลงได้บ้างเท่านั้น ต้องอาศัยมาตรการอื่นๆด้วยจึงช่วยแก้ปัญหาได้
ส่วนการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ จะช่วยลดการอพยพย้ายถิ่น ต้นทุนของครัวเรือนและสังคมลดลง คุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดความแออัดและการกระจุกตัวของความเจริญทางเศรษฐกิจ การจ้างงานในกรุงเทพปริมณฑลและเมืองหลัก โรงงานและการจ้างงานจะกระจายไปยังต่างจังหวัดไกลศูนย์กลางทางเศรษฐกิจมากขึ้น
ไทยมีปัญหาการกระจุกตัวของการผลิตและการจ้างงานสูง เกิดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่สูง จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข กรุงเทพและปริมณฑลมีการจ้างงานในระบบ 6-7 ล้านคน มีสถานประกอบการในระบบกว่า 239,000 แห่ง มีจีดีพีอยู่ที่ 7.5-7.6 ล้านล้านบาท
และมีโอกาสการมีงานทำสูงสุด เป้าหมายทางนโยบายสาธารณะต้องลดการกระจุกตัวและกระจายโอกาสในการจ้างงานไปยังทั่วทุกภูมิภาค การย้ายแหล่งการผลิตและการจ้างงานไปยังต่างจังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ จะเกิดผลดีต่อพื้นที่ และเกิดตัวทวีคูณท้องถิ่น (Local Multiplier)
นอกจากนี้ยังลดปัญหาความแออัด ปัญหามลพิษทางอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสลัมในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และการแตกสลายของสถาบันครอบครัวในชนบทจากการที่พ่อแม่ลูกไม่ได้อยู่ด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม การกระจายการลงทุน กระจายภาคการผลิตและโรงงานไปยังพื้นที่ต่างๆต้องมีมาตรการจูงใจเพิ่มเติม เนื่องจากการใช้ระบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหลายอัตราเป็นปัจจัยหนึ่งในการดึงดูดให้โรงงานย้ายฐานการผลิตไปยังจังหวัดที่มีระดบการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่ำหรือพื้นที่ห่างไกลความเจริญ