สืบเนื่องจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีข้อสั่งการ กรมควบคุมมลพิษ( คพ.) ติดตามสำรวจขยะมูลฝอย ประสานหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชน ให้ความช่วยเหลือเร่งการจัดเก็บขนขยะมูลฝอย หลังน้ำลดให้แก่ประชาชนในจังหวัดเชียงรายเร่งด่วน
ล่าสุดนายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และรองโฆษก คพ. เปิดเผยว่า ได้ประสานขอความร่วมมือ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด (SCG ลำปาง) และ สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า
พร้อมลงพื้นที่เพื่อสรุปการทำงานร่วมกันในการการคัดแยกขยะในพื้นที่ประสบอุทกภัยไปใช้ประโยชน์ โดย SCG ลำปาง ยินดีรับขยะไปเผาเป็นพลังงาน ซึ่งต้องมีการรื้อร่อนขยะเอาดินออก ขยะที่สามารถนำไปใช้ได้ ได้แก่ พลาสติก และไม้บางส่วน
คาดว่าจะมีประมาณ ร้อยละ 40 ของปริมาณขยะทั้งหมด และจะเป็นผู้จัดหารถเพื่อขนขยะที่รื้อร่อนแล้วส่งไปยังโรงงาน SCG ลำปาง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม นี้ ในส่วนสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า
ยินดีให้การสนับสนุนเครื่องจักรในการรื้อร่อน และอยู่ระหว่างประสานกับเทศบาลนครเชียงรายเพื่อหาจุดที่ตั้งที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเป็น ณ บริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งใกล้บ่อฝังกลบ ส่วนดินโคลนที่เหลือจากการรื้อร่อน สมาคมฯ จะช่วยหาแนวทางในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า รายงานการกำจัดขยะมูลฝอยพื้นที่น้ำท่วม ณ วันที่ 25 กันยายน 2567 เทศบาลตำบลแม่สาย มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้น 18,000 ตัน (ประมาณการ)
ปริมาณขยะที่เก็บขนได้ 3,721 ตัน นำไปฝังกลบ ณ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลตำบลแม่สาย พื้นที่ตำบลเวียงพางคำ คงเหลือขยะตกค้าง 14,279 ตัน
เทศบาลนครเชียงราย มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้น 50,000 ตัน ปริมาณขยะที่เก็บขนได้ 9,000 ตัน นำไป ณ จุดพักขยะชั่วคราว ดอยสะเก็น และ หลังเดอะมูน คงเหลือขยะตกค้าง 41,000 ตัน ปัญหาอุปสรรค ทั้งสองพื้นที่มีจุดพักขยะไม่เพียงพอทำให้มีกองขยะสูงเริ่มส่งกลิ่นเหม็น เครื่องจักรและแรงงานไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องจัดหาจุดพักขยะ เครื่องจักร และแรงงานเพิ่มเติม พร้อมจัดระเบียบการขนย้ายระหว่างจุดพักขยะและบ่อฝังกลบให้สมดุลกัน