“ดร.สามารถ”ชี้แผ่นดินไหวภัยใกล้ตัวคนไทย เปิดพื้นที่เสี่ยง 43 จังหวัด

08 ม.ค. 2568 | 05:24 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2568 | 05:31 น.

“ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์”ชี้แผ่นดินไหวภัยใกล้ตัวคนไทย เผยพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว 3 บริเวณ 43 จังหวัด แนะวิธีลดความสูญเสีย

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “แผ่นดินไหว ภัยใกล้ตัว” วันที่ 8 ม.ค. 2568 ระบุว่า 

แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ล่าสุดเกิดขึ้นที่เขตปกครองตนเองทิเบตเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่มีระดับความรุนแรงสูง มักจะมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก น่าเศร้าสลดยิ่งนัก เราได้เห็นภาพการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตออกมาจากซากปรักหักพังของอาคารที่ถล่มลงมา ซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก ใช้เวลานาน ผู้รอดชีวิตราวปาฏิหาริย์นั้นมีน้อย ส่วนใหญ่ต้องเสียชีวิต นับเป็นความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินอย่างใหญ่หลวง ทำอย่างไรจึงจะลดความสูญเสียลงได้?

1. จังหวัดในประเทศไทยที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพื้นที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว

กฎกระทรวงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2564 ได้กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว โดยได้ระบุพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว 3 บริเวณ ดังนี้

 

(1) บริเวณที่ 1 หมายถึงบริเวณหรือพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะมีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว มี 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก เพชรบุรี เลย สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี และหนองคาย

(2) บริเวณที่ 2 หมายถึงบริเวณหรือพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในระดับปานกลาง มี 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ กำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พังงา ภูเก็ต ระนอง ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และอุทัยธานี

(3) บริเวณที่ 3 หมายถึงบริเวณหรือพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในระดับสูง มี 12 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และ อุตรดิตถ์

จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยของเรามีจังหวัดที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว รวมทั้งหมด 43 จังหวัด หรือเกินครึ่งประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กฎกระทรวงฯ ระบุไว้ในปี 2550 จำนวน 22 จังหวัด และในปี 2540 จำนวน 10 จังหวัด แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักว่า แผ่นดินไหวอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในวงกว้างขึ้น ในส่วนของกรุงเทพฯ นั้น ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

2. การลดความสูญเสียจากแผ่นดินไหว

การลดความสูญเสียที่ดีที่สุด ก็คือ การออกแบบอาคารให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวในระดับหนึ่งได้ ถ้าแผ่นดินไหวมีระดับความรุนแรงไม่เกินขีดความสามารถของอาคารที่ได้ออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว อาคารก็จะไม่พังทลายลงมา ทั้งนี้ อาคารที่จะต้องออกแบบให้สามารถต้านแผ่นดินไหวได้ ถูกกำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าวข้างต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่ากฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับในการออกแบบอาคารบางประเภทเท่านั้น เช่น อาคารที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือและบรรเทาภัยหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว คลังสินค้า โรงมหรสพ หอประชุม สนามกีฬา หอศิลป์ พิพิธภัณฑสถาน สถานศึกษา หอสมุด ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 15 เมตร หรือ 5 ชั้นขึ้นไป (สำหรับบริเวณที่ 1 และ 2) และอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 10 เมตร หรือ 3 ชั้นขึ้นไป (สำหรับบริเวณที่ 3) เป็นต้น

แม้ว่ากฎกระทรวงดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมอาคารทุกประเภทและทุกขนาดความสูงก็ตาม แต่เจ้าของอาคารที่ได้รับการยกเว้น ก็อาจเลือกที่จะก่อสร้างอาคารของตนให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวในระดับที่ตนต้องการก็ได้ ซึ่งจะต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ของราคาโครงสร้างอาคาร

ในการออกแบบอาคารให้สามารถต้านแผ่นดินไหวได้นั้น จะต้องเป็นไปตามแนวทางในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารเพื่อต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 โดยได้กำหนดรายละเอียดด้านเทคนิคเกี่ยวกับการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวตามระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่กำหนด 

                         “ดร.สามารถ”ชี้แผ่นดินไหวภัยใกล้ตัวคนไทย เปิดพื้นที่เสี่ยง 43 จังหวัด

3. ข้อเสนอแนะ

(1) อาคารที่ก่อสร้างก่อนที่จะมีการบังคับใช้กฎกระทรวงดังกล่าว โดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่ ที่ไม่ได้รับการออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหวไว้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรแนะนำให้เสริมความแข็งแรงตามความเหมาะสม

(2) ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงวิธีปฏิบัติตนที่ถูกต้องในขณะเกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว 

ในสมัยที่ผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ผมมักใช้เวลาเรียนและทำงานวิจัยอยู่ที่อาคาร 9 ชั้น ซึ่งถือว่าเป็นอาคารสูง เพราะในเวลานั้นอาคารส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยสูงไม่เกิน 2 ชั้น

ดังนั้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหว (ซึ่งเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย) จะรู้สึกว่าอาคารโยกตัวได้อย่างชัดเจน บางครั้งก็โยกตัวอยู่นานหลายนาที ผมเคยเอ่ยถามเพื่อนนักเรียนชาวญี่ปุ่นว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรในขณะที่เกิดแผ่นดินไหว คำตอบติดตลกที่ได้รับก็คือ ไม่ต้องทำอะไร !

แต่ที่จริงแล้ว ชาวญี่ปุ่นได้รับทราบถึงวิธีปฏิบัติตนที่ถูกต้องในขณะเกิดแผ่นดินไหวมาตั้งแต่เยาว์วัย วิธีดังกล่าว เช่น นั่งลงเพื่อป้องกันการหกล้ม ใช้มือยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้เพื่อไม่ให้ตัวเรากระเด็นไปที่อื่น หลบใต้ที่กำบังซึ่งอาจจะเป็นโต๊ะ (โดยเฉพาะโต๊ะเหล็ก โชคดีที่โต๊ะทำงานของผมที่มหาวิทยาลัยโตเกียว และที่ Apartment ชานกรุงโตเกียวเป็นโต๊ะเหล็ก) ไม่ควรอยู่ใต้คาน ควรอยู่ห่างจากกระจกหน้าต่าง ตู้หรือชั้นวางของ เป็นต้น เมื่อมั่นใจว่าอาคารหยุดโยกตัวแล้วให้รีบออกจากอาคารทันที วิธีการนี้จะใช้ได้ผลในกรณีที่อาคารไม่พังทลายลงมาเท่านั้น

4. สรุป

ทั้งหมดนี้ ผมไม่ต้องการให้ผู้อ่านตระหนกตกใจ แต่อยากให้ทุกคนได้ตระหนักว่า แผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องไกลตัวของเราอีกต่อไปแล้ว อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหนก็ได้ ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด ก็คือ การเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการเกิดแผ่นดินไหว

เริ่มเสียแต่วันนี้เถอะครับ