วันที่ 26 ก.ย. 67 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “นโยบายการเงินสีเขียว รับมือภาวะโลกเดือด” ในงานสัมมนา Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อความอยู่รอดทางชีวิต และเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในหมวกของกระทรวงการคลังนั้น จะผลักดันทางด้านภาษี และมาตรการทางการเงิน ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาภาษีคาร์บอนขั้นสุดท้าย คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ในเร็วๆ นี้ เพื่อให้เริ่มมีผลบังคับใช้ได้ทันภายในปี 2567 นี้
สำหรับแนวคิดการเดินหน้าภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax นั้น เกิดจากปัญหาหลักของประเทศไทยสำคัญที่สุด คือ คนผลิตที่ไม่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ถูกจ่ายราคาในการสร้างมลพิษ ซึ่งเวลานี้มีความสำคัญ หากไม่มีราคาที่ต้องจ่ายในการสร้างมลพิษ ทุกคนก็ปล่อยมลพิษ ฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในประเทศ คือ ราคาของคาร์บอน (Carbon price) ซึ่งกรมสรรพสามิตได้คิดกลไกผ่านการสร้างภาษีคาร์บอน ที่เข้าไปในสินค้าที่ผลิต หรือสร้างมลพิษสูง เช่น น้ำมัน แต่ไม่ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น เพราะเราใช้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของกรมสรรพสามิต
“ยกตัวอย่างวิธีการคำนวณ เช่น เดิมการเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 6 บาท หากปรับเปลี่ยนแล้วจะกลายเป็นเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 5 บาท แต่ส่วนที่เหลือเป็นภาษีคาร์บอน ฉะนั้น ราคาที่ประชาชนต้องจ่ายภาษีน้ำมันเท่าเดิม ซึ่งสมการคิดของภาษีคาร์บอน คือ นำคาร์บอนที่อยู่ในน้ำมัน คูณด้วยราคาต่อยูนิต ออกมาเป็นราคาที่ประชาชนต้องจ่ายเป็นภาษีคาร์บอน ฉะนั้น ต่อจากนี้ประเทศไทยจะมีราคาของคาร์บอนอยู่ในสินค้าที่ผลิตคาร์บอน“
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินภาษีดังกล่าว จากนี้จะเกิดแรงจูงใจในการผลิตสินค้า ที่มีคาร์บอนต่ำลง เพราะท่านจะเสียภาษีคาร์บอนที่ต่ำลง ผู้ที่ผลิตสิ่งนั้นได้ ก็จะเป็นผู้ชนะในตลาด ส่งผลให้เกิดการหาน้ำมันที่สะอาดขึ้น ถือเป็น การใช้มาตรการทางภาษีสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตต่างๆ กลับกันหากไม่สนใจ หรือละเลยสิ่งแวดล้อม ราคาที่ต้องจ่ายก็จะสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ราคาในจุดแรกไม่กระทบประชาชน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ยังอยู่ในช่วงพิจารณาภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันใช้ภาษีแบตเตอรี่อัตราเดียว ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ชนิดใดก็ตาม แต่ต่อไปนี้จะมีระบบขั้นบันได เนื่องจากแบตเตอรี่แต่ละชนิด สร้างขึ้นมามีความแตกต่างกัน การจัดเก็บภาษีก็ควรมีความแตกต่างกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตผลิตแบตเตอรี่สะอาดขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมสรรพสมิต ใช้มาตรการสนับสนุนในมิติของรถอีวี ไม่ว่าจะเป็น EV 3.3 และ EV 3.5 เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ต้องมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และผลิตรถอีวีชดเชยในประเทศไทย ซึ่งจะมีรถต้องผลิตชดเชยไม่ต่ำกว่า 1 แสนคัน ถือเป็นมาตรการทางภาษีที่ไทยสนับสนุนให้เป็นจุดศูนย์กลางในการผลิตรถอีวี และยังได้สิทธิประโยชน์ในเชิงสิ่งแวดล้อม
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ในมิติด้านการเงินนั้น กระทรวงการคลังมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และมีส่วนที่สามารถพูดคุยได้ หรือธนาคารพาณิชย์ โดยเรามองธนาคารเป็นตัวกลางในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ในทิศทางที่เราอยากให้ประเทศนี้ไปได้ เพราะสถาบันการเงินเป็นผู้กำหนดสินเชื่อว่าจะให้ในอัตราดอกเบี้ยเท่าใด และเงื่อนไขรูปแบบใด ฉะนั้น หากเราต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมดังกล่าวก็จะได้รับสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรน โดยกระทรวงการคลังเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้
”เรามองธนาคารเป็นจุดศูนย์กลาง ในการพัฒนาประเทศไปทางใดทางหนึ่ง ผ่านการให้สินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ เราก็พยายามทำเรื่องนี้อยู่“
ขณะที่แบงก์รัฐที่กระทรวงการคลังกำกับอยู่นั้น ธนาคาร EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินที่ตื่นรู้ด้านเศรษฐกิจที่เขียวอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยมีพอร์ตสินเชื่อสีเขียวกว่า 70,000 ล้านบาท และกำลังจะก้าวสู่เป้าหมาย 1 แสนล้านบาท ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายให้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่สีเขียว ส่วนธนาคารออมสิน และ SME Bank ก็มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อปรับปรุงภาคเอกชนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว