KEY
POINTS
กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง เร่งรัด โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) นครปฐม-ชะอำ เพื่อให้การเดินทางลงสู่ภาคใต้สะดวกมากขึ้น
แต่กลับพบว่ามีชาวบ้านคัดค้านแนวเส้นทางเวนคืนที่ดิน เนื่องจากกังวลว่าจะกระทบต่อพื้นที่ทำกิน โดยเฉพาะบริเวณสวนตาล
ขณะความคืบหน้ามอเตอร์เวย์ หมายเลข 8 หรือ M8 สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร ในปัจจุบันกรมฯได้มีการปรับปรุงผลการศึกษาโครงการฯแล้วเสร็จ
เบื้องต้นโครงการฯ แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61 กิโลเมตร และ ช่วงที่ 2 ช่วงปากท่อ-ชะอำ 48 กิโลเมตร
ทั้งนี้โครงการฯ ช่วงที่ 1 ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและมีความจำเป็นเร่งด่วน
โดยกรมฯจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้หรือภายในปี 2568 เพื่อดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ช่วงที่ 1 นครปฐม-ปากท่อ วงเงินประมาณ 44,444 ล้านบาท แบ่งเป็น
ค่างานโยธา 29,156 ล้านบาท งานระบบ (O&M) 3,000 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 12,288 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากการกู้เงินประมาณ 38,000 ล้านบาท
มีรายงานข่าวจากกรมทางหลวงระบุว่า หากครม.อนุมัติเห็นชอบช่วงที่ 1 ช่วงนครปฐม-ปากท่อ แล้ว จะเริ่มดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์และเวนคืนที่ดินภายในปี 2569
โดยจะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างและก่อสร้างภายในปี 2570 ระยะเวลาก่อสร้าง 3-4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2574
ส่วนการก่อสร้างช่วงที่ 2 ช่วงปากท่อ-ชะอำ ระยะทาง 48 กิโลเมตร (กม.) ในช่วง 4 ปีก่อนยังติดปัญหาการเวนคืนที่ดินจากการคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่บริเวณสวนตาล
อีกทั้งชาวบ้านต้องการให้กรมฯใช้แนวเส้นทางบริเวณถนนเพชรเกษม ซึ่งกรมฯได้มีการชี้แจงประเด็น รวมถึงมาตรการเยียวยาแก่ชาวบ้านแล้ว
“การก่อสร้างช่วงที่ 2 ช่วงปากท่อ-ชะอำ นั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกรมฯ ลงพื้นที่สำรวจแนวเส้นทางอีกครั้ง ปัจจุบันพบว่าเส้นทางมีการเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเส้นทางการเดินทางลงภาคใต้แตกต่างจากเส้นทางสายอื่น เนื่องจากเป็นเส้นทางแคบ ซึ่งมอเตอร์เวย์ควรมีแนวเส้นทางที่ส่งเสริมด้านความมั่นคงในการเดินทาง กรณีถนนเพชรเกษมกลายเป็นเส้นทางตัดขาด เช่น น้ำท่วม ควรมีแนวเส้นทางสำรองเพื่อเป็นทางเลือกในกรณีที่เกิดเหตุด้วย” แหล่งข่าวจากทล.กล่าว
ขณะเดียวกันหากได้ข้อสรุปแนวเส้นทางช่วงปากท่อ-ชะอำ ประกอบกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วเสร็จ จะดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการฯ
คาดว่าใช้เวลาออกแบบไม่นาน เพราะพื้นที่ที่ติดปัญหานั้นมีไม่มาก หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย PPP พิจารณาต่อไป
สำหรับการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม – ชะอำ (M8) จะใช้รูปแบบ PPP Gross Cost โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธา
ขณะที่เอกชนร่วมลงทุนในการติดตั้งระบบดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) สัญญาสัมปทาน 32 ปี
ด้านการก่อสร้างของโครงการฯ จำนวน 4 ช่องจราจร โดยมีรูปแบบของถนนระดับพื้น ดังนี้
1.ช่องสายทางที่ไม่มีทางบริการ เขตทางกว้าง 80 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้างช่องละ 3.60 เมตร
ไหล่ทางด้านอก 3.00 เมตร ไหล่ทางด้านใน 1.00 เมตร เกาะกลางแบบ Depressed Median
2.ช่องสายทางที่มีทางบริการ เขตทางกว้าง 120 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้างช่องละ 3.60 เมตร
ไหล่ทางด้านนอก 3.00 เมตร ไหล่ทางด้านใน 1.00 เมตร เกาะกลางแบบ Depressed Median
แนวเส้นทางโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม – ชะอำ (M8) แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61 กิโลเมตร
จุดเริ่มต้นโครงการต่อเชื่อมกับ M81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่บริเวณทางแยกต่างระดับนครชัยศรี อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
สิ้นสุดเชื่อมต่อมายังทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ) อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ช่วงที่ 2 ปากท่อ-ชะอำ ระยะทาง 48 กิโลเมตร
จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับช่วงที่ 2 บริเวณทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ) อ.ปากท่อ สิ้นสุดเชื่อมต่อมายังถนนเพชรเกษม อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาแนวทางในการดำเนินการ โดยตลอดเส้นทางประกอบด้วย
ด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางจำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1.ด่านนครชัยศรี 2.ด่านตลาดจินดา 3.ด่านบางแพ 4.ด่านราชบุรี 5.ด่านวัดเพลง
6.ด่านปากท่อ 1 7.ด่านปากท่อ 2 8.ด่านเขาย้อย และ 9.ด่านท่ายาง
เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8 ฉบับที่ 4,031 วันที่ 29 ก.ย. - 2 ต.ค. พ.ศ. 2567