"BOI" ชี้ "ค่าเงินบาทแข็ง" กระทบทุนต่างชาติปักหมุดลงทุนไทยไม่มาก

30 ก.ย. 2567 | 03:55 น.
อัพเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2567 | 03:55 น.

"BOI" ชี้ "ค่าเงินบาทแข็ง" กระทบทุนต่างชาติปักหมุดลงทุนไทยไม่มาก ระบุส่วนใหญ่จะมองปัจจัยพื้นฐาน ทั้งสาธารณูปโภค ความพร้อมบุคลากร พลังงานสะอาด สิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากรัฐ เหตุเป็นการลงทุนระยะยาว มองเป็นโอกาสนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ ราคาถูกลง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงประเด็นเงินบาทแข็งค่า ต่อผลกระทบการขอรับส่งเสริมหรือการลงทุนในไทย ว่า ค่าเงินมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในไทยบ้างแต่ไม่มาก แต่อีกด้านมองเป็นโอกาสในการเร่งนำเข้าเครื่องจักร/อุปกรณ์ เพื่อขยายการลงทุนหรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น 

ทั้งนี้ในการลงทุนส่วนใหญ่ นักลงทุนจะมองในเรื่องปัจจัยพื้นฐาน เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว เช่น สาธารณูปโภค ความพร้อมของบุคลากร ศักยภาพของตลาดในประเทศ พลังงานสะอาด สิทธิประโยชน์ และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

ด้านนายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป โดยแข็งค่าขึ้นแล้วเกิน 3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 
 

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะประเทศไทยที่ภาคการส่งออกเป็นรายได้หลักของประเทศกว่า 30% 

"BOI" ชี้ "ค่าเงินบาทแข็ง" กระทบทุนต่างชาติปักหมุดลงทุนไทยไม่มาก

เมื่อเงินบาทแข็งขึ้นในระดับดังกล่าว จึงส่งผลทำให้มูลค่าที่เคยส่งออกในปัจจุบันลดลงไปถึง 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา   ขณะที่ผู้นำเข้า แม้จะได้รับอานิสงส์การนำเข้าสินค้าในราคาที่ต่ำลงตามการแข็งค่าของเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่อีกด้านก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน จากต้องทำประกันความเสี่ยงค่าเงินบาท เนื่องจากเกรงว่าจะมีต้นทุนสูงขึ้นช่วงเงินบาทอ่อนค่า และการที่เงินผันผวนแข็งค่าเร็วดังกล่าวจึงทำให้ตั้งตัวไม่ทัน 
 

ดังนั้น เมื่อนำเข้าสินค้ามาในราคาที่ประกันความเสี่ยงไว้ แล้วนำมาผลิตสินค้าแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านยิ่งสู้ไม่ได้ เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้นทำให้มูลค่าส่งออกลดลง

"ตอนทำประกันค่าเงินอยู่ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 33 บาท โดยที่ต้องจ่ายค่าสินค้านำเข้าราคาเดิมก็เป็นการขาดทุนไปแล้ว ยิ่งนำไปผลิตสินค้าก็ขาดทุนทันทีแบบที่ผู้ประกอบการไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งเสถียรภาพของเงินบาทไม่ควรสวิงแบบนี้"

นายอภิชิต กล่าวอีกว่า หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปจะส่งกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างรุนแรง ซึ่งปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องเผชิญปัญหาหลายด้าน ทั้งปัญหาสินค้าราคาถูกจากทุนข้ามชาติเข้ามาถล่มไทย ต้นทุนดอกเบี้ยที่ยังสูง และนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันที่รัฐบาลกำลังผลักดัน