นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนพัฒนาและผลักดันให้พื้นที่หินเขางูซึ่งตั้งอยู่ในอุทยานหินเขางู อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ทั้งนี้ เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาเหมืองเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว มาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์แก่พื้นที่และชุมชนรอบข้าง โดยได้ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มาร่วมสำรวจพื้นที่ด้วยกันว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจใดในพื้นที่ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมาเพื่อใช้ประกอบกิจการ หรือควรได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
รวมถึงให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ช่วยให้คำปรึกษา แนะนำ ด้านการพัฒนาอาชีพ พัฒนาสินค้า
และร่วมสร้างอัตลักษณ์เฉพาะให้สินค้า อาหาร และของใช้ต่าง ๆ ของเขางู ให้มีความน่าสนใจเพื่อช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว และเป็นการกระจายรายได้ให้เมืองรอง
สำหรับภูเขาหินเขางูนั้น เคยเป็นแหล่งทำเหมืองแร่หินปูนที่สำคัญในอดีต มีการขุดค้นแร่เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรม แต่เมื่อการทำเหมืองหยุดลง พื้นที่แห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน จนเกิดการฟื้นฟูตามธรรมชาติ กระทั่งมีความสวยงามและเหมาะสำหรับการส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ต้องการให้พื้นที่ของอุทยานเขางูแห่งนี้ เป็นต้นแบบของการพัฒนาเหมืองเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วโดยให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง
โดยอุทยานเขางูได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับประเทศ มีทั้งบริการแคมป์ปิ้งและกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ ที่ไม่เพียงแต่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ และเป็นสถานที่สำหรับผู้ชื่นชอบกิจกรรมผจญภัย เช่น ปีนหน้าผา ปั่นจักรยาน
นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีแผนที่จะนำอุปกรณ์เหมืองเก่ามาจัดแสดงโชว์ไว้สำหรับศึกษาและอนุรักษ์ เพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง เชื่อว่าด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และประชาชน จะทำให้การฟื้นฟูอุทยานเขางู กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจมวลรวมของจังหวัด และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนได้
นายเอกนัฏ กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และขอความร่วมมือจากหน่วยงานท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี ร่วมกันพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวปักหมุดเมื่อมาเยือนจังหวัดราชบุรี และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีแผนการพัฒนาพื้นที่เหมืองหลังจากการหยุดประกอบกิจการก่อนการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่
อีกทั้งกำหนดแผนการพัฒนาพื้นที่ประกอบการที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์สูงสุดของชุมชน เช่น พัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นพื้นที่สันทนาการ ซึ่งถือเป็นการคืนกำไรให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ อาชีพ ให้กับชุมชนโดยรอบ ตามแนวทางเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Model (Bio – Circular - Green Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ
ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนำมาเป็นแนวทางในการออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการ และรูปแบบธุรกิจที่สามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ ผ่านการจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และเป็นการจัดการทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น