ไฟไหม้รถบัส : ราคาที่ไทยต้องจ่ายจากอุบัติเหตุบนถนน

02 ต.ค. 2567 | 04:20 น.
อัพเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2567 | 04:20 น.

ไฟไหม้รถบัส โศกนาฏกรรมบนท้องถนน ที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างคาดไม่ถึง สร้างต้นทุนให้กับไทยถึง 500,000 ล้านบาท หรือ 3% ของ GDP

ในขณะที่เสียงหวูดรถพยาบาลดังขึ้นบนท้องถนน ไม่ใช่เพียงชีวิตและครอบครัวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่เศรษฐกิจของประเทศไทยก็กำลังสั่นคลอนอย่างเงียบ ๆ ด้วยเช่นกัน อุบัติเหตุบนท้องถนนไม่เพียงแต่คร่าชีวิตผู้คน แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้างอย่างที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง

ภาพหลังไฟไหม้รถบัส เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567

ประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดเป็นลำดับที่ 9 ของโลก 

ประมาณการผู้เสียชีวิต 32.7 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 22,491 คน (เฉลี่ย 60 คนต่อวัน) สถานการณ์การบาดเจ็บและ สูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยในภาพรวม

มีข้อมูลผู้เสียชีวิตลดลงจากเดิมจากประมาณการครั้งที่ผ่านมาขององค์การอนามัยโลก 2,000 คน แต่ ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดอันดับหนึ่งในเอเชียและภูมิภาคอาเซียน สัดส่วนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากรถยนต์มากที่สุด ร้อยละ 29 รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 28

ที่เหลือเป็นผู้ขี่จักรยานและผู้เดินเท้า ร้อยละ 26 และผู้ใช้ถนนอื่น ๆ ร้อยละ 17 ทั้งนี้สัดส่วนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทำงถนนของประเทศไทยเป็นผู้เสียชีวิตที่เกิดจำก รถจักรยานยนต์ที่สุด ร้อยละ 74.4 รถยนต์ ร้อยละ 12.3 ผู้เดินเท้า ร้อยละ 7.6 ผู้ขี่จักรยาน ร้อยละ 3.5 และผู้ใช้ถนนอื่นๆ ร้อยละ 2.3

ตัวเลขที่มากกว่าความสูญเสีย

จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2019 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 19,904 ราย ปี 2020 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 17,831 ราย ทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งมีค่าที่สุดของประเทศ แต่กลับเกิดการสูญเสียปีละราว 10,000-20,000 คน สุดท้ายก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ปี 2018 ธนาคารโลกคาดว่า ไทยอาจสามารถเพิ่ม GDP ได้มากถึง 22% หากสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนลงได้ครึ่งหนึ่ง ด้าน WHO ประมาณการไว้เมื่อปี 2019 ว่าอุบัติเหตุทางถนนสร้างต้นทุนให้กับไทยถึง 500,000 ล้านบาท หรือ 3% ของ GDP ซึ่งของประเทศไทยอยู่ประมาณ 14-15 ล้านล้านบาท 

ภาพเจ้าหน้าที่กำลังปฎบัติหน้าที่กรณีไฟไหม้รถบัสนักเรียน

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 22,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ย 60 คนต่อวัน

การสูญเสียการทำงานและเศรษฐกิจโลก

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมอีกด้วย โดยทำให้ทั่วโลกสูญเสียเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าประมาณ 518,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศที่ร่ำรวยนั้นสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงเกินไป การสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกหนึ่งในสี่เกิดจากการสูญเสียผลผลิตจากสถานที่ทำงาน

ภาพหลังจากเพลิงไหม้สงบ จากเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา

อุตสาหกรรมการเกษตร ป่าไม้ การขนส่งทางบก การทำเหมืองแร่ การก่อสร้างหนัก และการขายและซ่อมแซมยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องแบกรับภาระทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุทางรถยนต์หนักที่สุด

ไทยตั้งเป้าลดเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ  12 คน/ประชากร 1 แสนคนในปี 2570

รายงานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ปี 2018 พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากการชนบนถนนทั่วโลกต่อปีสูงขึ้นเป็น 1.35 ล้านคน คิดเป็นค่าเฉลี่ยวันละ 3,700 คน ประเทศสมาชิกรวมทั้งประเทศไทยร่วมขับเคลื่อนตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ข้อที่ 3.6 ที่ตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการชนบนถนนลงครึ่งหนึ่ง ในปี 2030

และข้อ 11.2 ที่ให้ความสำคัญกับการจัดให้มีการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน  ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้สำหรับทุกคน พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยาย การขนส่งสาธารณะ และคำนึงถึงกลุ่มสตรี เด็กผู้พิการ และผู้สูงอายุภายในปี 2030 รวมถึงการรับรองกรอบปฏิญญาด้านความปลอดภัยทางถนนของสหประชาชาติ และร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการตามทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนกันอย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทยจึงมีเป้าหมายการลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้เหลือเท่ากับ 12 คนต่อประชากรแสนคน หรือ 8,478 คนในปี 2027 (พ .ศ.2570) เป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัดภายใต้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติ ประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล อีกทั้งเป็นเป้าหมายของแผนแม่บทด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย และนโยบายรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนมีความสุขในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความปลอดภัย การให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากลและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ข้อมูลอ้างอิง 

  • รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2565
  • morrisdewett