KEY
POINTS
การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของไทยถือเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจภายในประเทศและนอกประเทศ ทั้งด้านอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตลอดจนเกิดการจ้างงาน ส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดให้ไทยสามารถก้าวข้ามขีดความสามารถและกับดักรายได้ปานกลางได้
ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีการตั้งวงเงินงบประมาณจำนวน 3,752,700 ล้านบาท หลังที่ประชุมอภิปรายตลอด 3 วัน
ขณะแต่ละโครงการภายใต้กำกับของกระทรวงคมนาคมล้วนมีความจำเป็นต้องผลักดันเพื่อเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะทั่วประเทศ อย่างไร้รอยต่อ ตลอดจนการพัฒนาระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สะดวกต่อการเดินทางของประชาชน และที่น่าจับตางบประมาณปี 2568 มีหลายโครงการต้องเร่งรัดผลักดัน เข้าสู่การพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม.)
44 โครงการ 2.31 ล้านล้าน
ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม มีการขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2568 วงเงิน 204,716 ล้านบาท จากเดิมที่สำนักงบประมาณได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณปี 2567 ให้กับกระทรวงคมนาคม วงเงิน 228,803 ล้านบาท
ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม ภายใต้การดูแลของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังคงผลักดันให้ครม. อนุมัติโครงการลงทุนเร่งด่วนอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบพบว่า มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญต้องเร่งรัดดำเนินการภายในงบประมาณปี 2568 จำนวน 44 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 2.31 ล้านล้านบาท
ปักธง 4 โปรเจ็กต์ หนุนขนส่งทางน้ำ
เริ่มที่โครงการเรือธงสำคัญตามนโยบายรัฐบาลนี้อย่างโครงการแลนด์บริดจ์ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อรถไฟ,ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และท่าเรือ 2 ฝั่ง (ชุมพร-ระนอง) ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบโครงการ
ขณะเดียวกันยังมีโครงการที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เร่งเดินหน้าและศึกษาโครงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวม 114,000 ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือคลองเตย
ล่าสุดนายสุริยะ เตรียมกำหนดการประชุมนัดแรกภายในเดือนตุลาคมนี้ หลังจากได้รับคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ท่าเรือคลองเตยจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ส่วนกรณีที่มีเอกชนสนใจที่จะเข้ามาลงทุนการทำสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ในพื้นที่ท่าเรือคลองเตยนั้น เบื้องต้นกระทรวงคมนาคม ยังคงยืนยันตามเดิมว่ารัฐบาลยังไม่มีแผนจะเดินหน้าในเรื่องนี้
ปัจจุบันท่าเรือคลองเตย พื้นที่ 2,300 ไร่ นั้น มีแผนพัฒนามุ่งเน้นเป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) เท่านั้น โดยพื้นที่บางส่วนของโครงการฯจะดำเนินการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในรูปแบบ Mixed Use พบว่ามีกลุ่มเอกชนที่สนใจ เช่น กลุ่มธุรกิจเครือเซ็นทรัล เนื่องจากเอกชนรายนี้เคยทำผลการศึกษาพื้นที่ดังกล่าวแล้ว
ด้านแผนเดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เป็นโครงการที่จะทำให้การขนส่งสินค้าจากทางจีนตอนใต้มาสู่ท่าเรือแหลมฉบังใกล้กว่าเส้นทางของท่าเรือในประเทศดังกล่าวที่ใช้เวลาเดินทางกว่า 2,000 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งกทท.ได้นำร่อง 2 จังหวัด โดยโครงการท่าเรือบก จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านโนนพยอม ต.ม่วงหวาน อ.นํ้าพอง จ.ขอนแก่น ใช้พื้นที่ 1,500-2,000 ไร่ วงเงินลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท
สาเหตุที่กทท.ได้เลือกพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่นมีซับพลายและดีมานด์ที่มีสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก อีกทั้งเป็นจังหวัดที่เป็นจุดศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าในภูมิประเทศที่สามารถเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว
ขณะที่โครงการท่าเรือบก จังหวัดนครราชสีมา ตำแหน่งที่ตั้งเดิมอยู่ที่ ต.กุดจิก อ. สูงเนิน จ.นครราชสีมา วงเงินลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท ปัจจุบันพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กทท.มีความจำเป็นต้องพิจารณาพื้นที่ใหม่ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพมากกว่าพื้นที่เดิม รวมถึงพื้นที่โดยรอบให้ครอบคลุมกับการขนส่งทางถนนและทางราง
สำหรับโครงการท่าเรือบก จังหวัดนครราชสีมา มีการเสนอทำเลที่ตั้งใหม่ คือ บริเวณสถานีรถไฟบ้านกระโดน ต.หนองไข่น้ำ อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งติดกับสถานีรถไฟและถนน รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยประสบปัญหาน้ำท่วม
ประมูลมอเตอร์เวย์ 4 สาย
ทั้งนี้ในส่วนกรมทางหลวง (ทล.) มีโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หลายสายที่เร่งเปิดประมูลภายในปี 2568 จำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 119,053 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทล์ลเวย์) วงเงิน 31,358 ล้านบาท
โครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 9 ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 38 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท โครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 9 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 35 กม. วงเงิน 15,936 ล้านบาท
นอกจากนี้ทล. ยังมีโครงการที่เร่งดำเนินการเปิดประมูลเพิ่มอีก 1 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 24.7 กม. วงเงิน 15,724 ล้านบาท
ปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ได้เร็วๆนี้
ดันถนนทช. 16 เส้นทาง
ฟากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยมีนายมนตรี เดชาสกุลสม เป็นอธิบดี กล่าวว่า ความคืบหน้าการเบิกจ่ายของทช.ในปีงบประมาณ 2567 พบว่า ปัจจุบันทช.สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เพียง 70% จากที่ได้รับจัดสรรงบประมาณอยู่ที่ 47,000 ล้านบาท ถือเป็นการเบิกจ่ายที่น้อยมาก
“ส่วนสาเหตุที่เบิกจ่ายงบประมาณได้น้อย เนื่องจากในปีงบประมาณดังกล่าวได้รับจัดสรรงบประมาณล่าช้า เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ทำให้ทช.ต้องเร่งรัดลงนามสัญญาและเบิกจ่ายได้ครบ 100% ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่งผลให้การเบิกจ่ายเหลื่อมไปในปีงบประมาณ 2568” นายมนตรี กล่าว
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2568 ทช.ได้รับจัดสรรงบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.งบลงทุน 49,144 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบผูกพันปีเดียว 40,448 ล้านบาท งบผูกพันรายการใหม่ 2,628 ล้านบาท และงบผูกพันข้ามปี 6,067 ล้านบาท 2.งบดำเนินงาน 856 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายเบิกจ่ายงบประมาณได้ครบ 100% ภายในเดือน กันยายน2568
สำหรับโครงการขนาดใหญ่ของทช.ที่เร่งรัดดำเนินการภายในปีงบประมาณ 2568 จำนวน 16 โครงการ วงเงินรวมกว่า 16,641 ล้านบาท เช่น โครงการขยายถนนชัยพฤกษ์ จ.นนทบุรี โครงการถนนเลียบแม่น้ำโขงนาคาวิถี ช่วงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (แห่งที่ 2) - พระธาตุพนม อ.เมือง จ.มุกดาหารและนครพนม
โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา -อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง โครงการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ฯลฯ
ลุยทางด่วนกทม.-ภูเก็ต
ด้านการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีโครงการที่เตรียมความพร้อมเสนอต่อครม.เห็นชอบภายในปีนี้ จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 28,600 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง ระยะทางรวม 3.98 กม. วงเงิน 15,000 ล้านบาท
โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 สายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทางรวม 6.7 กม. วงเงิน 13,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ตามแผนทั้ง 2 โครงการ หากครม.เห็นชอบแล้วจะเปิดประมูลต่อไป คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2568 รวมทั้งโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) วงเงิน 35,000 ล้านบาท ที่จะเร่งดำเนินการได้เร็วๆนี้
ลุยระบบราง ไฮสปีด-ทางคู่
จากนโยบายรัฐบาลเร่งผลักดันระบบโครงข่ายรถไฟที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการขนส่งโลจิสติกส์มากขึ้นเมื่อเทียบกับการขนส่งทางถนนเพียงช่องทางเดียว ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เตรียมเดินหน้าโครงการลงทุนของรฟท. จำนวน 9 โครงการ วงเงิน 661,060 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วง รังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,473 ล้านบาท
ปัจจุบันได้เสนอต่อครม.เพื่อขอทบทวนมติครม.และปรับกรอบวงเงิน หลังจากในช่วงที่ผ่านมารฟท. ได้สรุปผลการศึกษาและเสน ครม.ไป แล้ว แต่มีการดึงเรื่องกลับมาปรับแก้ไขใหม่เพื่อความรอบคอบ
โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทางรวม 20.5 กม. วงเงิน 15,176 ล้านบาท ที่ผ่านมา รฟท.ได้มีการศึกษาควบรวม 2 เส้นทางไว้ด้วยกัน ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณลดลง 110 ล้านบาท
โครงการไฮสปีด ไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงิน 341,351 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธา 235,129 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน 10,310 ล้านบาท
ค่าลงทุนระบบราง-ระบบรถไฟฟ้า และเครื่องกล 80,165 ล้านบาท ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อไปยังประเทศจีนและภูมิภาค ทำให้ไทยมีความจำเป็นต้องก่อสร้างต่อในระยะที่ 2 หลังจากมีการก่อสร้างโครงการไฮสปีดในระยะที่ 1 แล้ว เพื่อให้เกิดศักยภาพการขนส่งทางระบบราง
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) หารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่ออนุมัติไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2 ได้เร็วขึ้น คาดว่าสศช.จะอนุมัติโครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 ภายในสิ้นปีนี้
จากนั้นจะเสนอต่อครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งตามกระบวนการจะเริ่มเปิดประมูลงานโยธาได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2568 หลังจากนั้นจะพิจารณาการเปิดประมูลเดินรถในรูปแบบ PPP ควบคู่การก่อสร้างงานโยธาใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2571
นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 81,143 ล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 30,422 ล้านบาท
โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 66,270 ล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 68,222 ล้านบาท
โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 44,103 ล้านบาท โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,900 ล้านบาท
ปูพรมขยายสนามบิน
ปิดท้ายที่โครงการลงทุนสายอากาศที่อยู่ในความดูแลของบริษัทท่าอากาศไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.ผู้ดูแลและพัฒนาสนามบินหลักในไทยทั้ง 6 แห่ง ปัจจุบันพบว่า สนามบินหลายแห่งนั้นไม่สามารถรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นได้ ทำให้เกินความจุที่สนามบินจะรองรับได้
จากการการคาดการณ์ของการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประเมินว่าภายในปี 2574 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นถึง 200 ล้านคน ส่งผลให้กระทรวงคมนาคม โดยทอท.มีแผนขยายสนามบิน จำนวน 8 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 344,040 ล้านบาท
สำหรับการลงทุนใหม่ในการขยายสนามบินสุวรรณภูมิในเฟสต่างๆที่จะเกิดขึ้นต่อไป ประกอบด้วย โครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) วงเงิน 7,830 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 81,000 ตารางเมตร คาดจะเปิดประมูลในเดือนธันวาคม 2567
ส่วนโครงการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก (West Expansion) วงเงิน 9,000 ล้านบาท ซึ่งต้องรอการทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเสร็จก่อน จากนั้นจะมีการออกแบบรายละเอียด เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทที่ทบทวนใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาออกแบบประมาณ 8 เดือน
ต่อมาโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท (ปี 2568-2573) ที่จะมีขนาดใหญ่กว่าอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) คาดว่าจะออกแบบก่อสร้างได้ในปี 2568-2569 และจัดหาผู้ก่อสร้างได้ในปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปีครึ่ง แล้วเสร็จเปิดให้บริการปลายปี 2574 รองรับผู้โดยสาร 70 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้ทอท.ยังเดินหน้าลงทุนขยายสนามบินดอนเมือง วงเงินงบประมาณ 36,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2573
ขณะที่การเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินภูเก็ต ระยะที่ 2 วงเงิน 6,210 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี โดยจะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มพื้นที่อีกกว่า 177,000 ตารางเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2572
ด้านการพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ มีพื้นที่กว่า 95,000 ตารางเมตร รวมทั้งจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ทำให้มีพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 66,600 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 20 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2569
ขณะเดียวกันทอท.ยังระบุอีกว่า การก่อสร้างสนามบินใหม่ 2 แห่ง หรือ ท่าอากาศยานอันดามัน (สนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2) และท่าอากาศยานล้านนา (สนามบินเชียงใหม่ แห่งที่ 2)
ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ตลอดจนกระบวนการจัดตั้งท่าอากาศยาน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี โดยสนามบินอันดามัน พื้นที่ 7,300 ไร่ วงเงิน 80,000 ล้านบาท รองรับเที่ยวบินได้ 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และหลุมจอดอากาศยาน 44 หลุมจอด คาดว่าจะตั้งอยู่ในตำบลโคกกลอย จังหวัดพังงา
ส่วนสนามบินล้านนา พื้นที่ 8,050 ไร่ วงเงิน 70,000 ล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพื่อรองรับผู้โดยสาร 24 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง 2 เส้น สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 41 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และหลุมจอดอากาศยาน 38 หลุมจอดรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศได้ 32,000 ตัน โดยคาดว่าจะตั้งอยู่ในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน