จับตา สคบ.รื้อกฎหมายอุดช่องโหว่ ธุรกิจขายตรง ตลาดแบบตรง ตุ๋นผู้บริโภค

11 ต.ค. 2567 | 10:22 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2567 | 10:26 น.

จับตา สคบ.เตรียมทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมธุรกิจขายตรง ตลาดแบบตรง หลังกฎหมายเก่าใช้มานานกว่า 20 ปี ไม่ทันเกมโกงหลอกลวงผู้บริโภค บางรายแอบทำธุรกิจไม่ตรงที่จดทะเบียน เสี่ยงแชร์ลูกโซ่

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) พิจารณาทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมธุรกิจขายตรง โดยเฉพาะพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ซึ่งบังคับใช้มานานกว่า 20 ปี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน หลังจากเกิดกรณีประชาชนถูกหลอกลวงให้ลงทุนในธุรกิจขายตรงอย่างต่อเนื่อง และมีรูปแบบการชักชวนให้ลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น

“ที่ผ่านมามีการรายงานปัญหาเข้ามาเกี่ยวกับธุรกิจขายตรง และธุรกิจตลาดแบบตรง ที่ลักษณะคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้ผู้ทำธุรกิจตัวปลอม เข้ามาหลอกลวงประชาชน อีกทั้งภัยการหลอกลวงตอนนี้มีรูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น และซับซ้อนมากขึ้น จึงถึงเวลาต้องศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่บังคับใช้อยู่เดิมให้ทันสมัย และครอบคลุมมากขึ้น” แหล่งข่าวระบุ

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สคบ. ได้รายงานว่าได้ตรวจพบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจขายตรง และธุรกิจตลาดแบบตรง มักแอบดำเนินธุรกิจที่ผิดไปจากการจดทะเบียนเอาไว้หลายราย เช่น บางรายจดทะเบียนตลาดแบบตรง แต่กลับไปทำขายตรง สร้างเครือข่าย และอาจมีความเสี่ยงเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ เช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจขายตรงบางรายก็แอบขายสินค้าแบบตลาดแบบตรง โดยใช้ช่องทางขายสินค้าผ่านสื่อต่าง ๆ ถึงลูกค้าแทน

ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องการขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 กำหนดแนวทางเกี่ยวกับการดูแลธุรกิจขายตรง และธุรกิจตลาดแบบตรง และอธิบายข้อมูลการดำเนินธุรกิจไว้อย่างชัดเจน ตามมาตรา 3 โดยอธิบายว่า 

ขายตรง” หมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการนำเสนอขายต่อผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภคหรือของผู้อื่น หรือสถานที่อื่นมิใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ โดยผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระชั้นเดียวหรือหลายชั้นแต่ไม่รวมถึงนิติกรรมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง 

ตลาดแบบตรง” คือ การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภค ซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบบตรงนั้น โดยเฉพาะการขายสินค้าผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น

ส่วนการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ด้านนายจิติภัทร์ บุญสม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภค ด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง (สคบ.) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า การพิจารณาปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 นั้น สคบ.ขอรอพิจารณานโยบายที่ชัดเจนอีกครั้ง แต่เชื่อว่า เรื่องนี้จะอยู่ในแผนการพัฒนากฎหมายที่สคบ.จะศึกษาในรายละเอียดต่อไป