นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการที่ได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1
ที่ผ่านมาได้สั่งการให้ กทพ. ไปดำเนินการปรับปรุงระบบเก็บค่าผ่านทาง และลดอัตราค่าผ่านทาง ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 50 บาท (50 บาทตลอดสาย) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยในระยะแรกจะดำเนินการบนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ กทพ. ได้เจรจาร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 เพื่อปรับลดอัตราค่าผ่านทางฯ
ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอขอความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน - ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข)
อย่างไรก็ดีตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ ได้ในเดือนธันวาคม 2567 และเริ่มปรับลดอัตราค่าผ่านทางในเดือนมกราคม 2568
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้ กทพ. ไปเจรจาร่วมกับ BEM เพื่อให้ลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) มูลค่าประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกันเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร โดยในการลงทุนก่อสร้าง Double Deck ของ BEM ในครั้งนี้ จะขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน
ทั้งนี้ในปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอเรื่องการแก้ไขสัญญาฯ ต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
“ยืนยันว่าในการขยายสัมปทานดังกล่าว เป็นการแลกกับการก่อสร้าง Double Deck เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการปรับลดค่าผ่านทางแต่อย่างใด ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนแต่อย่างใด แต่เร่งดำเนินการ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก” นายสุริยะ กล่าว
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ได้ให้นโยบายและเน้นย้ำว่า ทุกกระบวนการในการดำเนินงานนั้นตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีความละเอียดรอบครอบ โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้
ส่วนการปรับลดอัตราค่าผ่านทางและการปรับปรุงระบบค่าผ่านทาง เบื้องต้นจะยกเลิกด่านประชาชื่น (ขาออก) และด่านอโศก 3 ซึ่งมีปริมาณจราจรหนาแน่น เพื่อให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น
ทั้งนี้จะทำการปรับเพิ่มช่องเก็บค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติ (ETC) แบบไม่มีไม้กั้น และลดจำนวนช่องเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด (MTC) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง อีกทั้งทำให้สามารถแก้ไขปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ คือ ผู้ใช้ทางจ่ายค่าผ่านทางในราคาที่เหมาะสม และคุ้มค่าเป็นอย่างมาก
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การดำเนินการปรับลดค่าผ่านทางบนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัช ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้ทางพิเศษในปีงบประมาณ 2566 เฉลี่ย 968,150 คัน/วัน จากจำนวนผู้ใช้ทางพิเศษเฉลี่ยรวมทุกสายทาง 1,715,306 คัน/วัน หรือ 56% ของปริมาณจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษทั้งหมด
นอกจากนี้ผู้ใช้ทางจะได้รับประโยชน์ สามารถเดินทางข้ามระบบทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครโดยจ่ายค่าผ่านทางในอัตราสูงสุดไม่เกิน 50 บาท สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้สูงสุด 30 นาที/เที่ยว
สำหรับผลการศึกษาของ กทพ. ระบุว่า การปรับลดค่าผ่านทางดังกล่าว สามารถทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนได้ 1,200-3,000 ล้านบาท/ปี ตลอดอายุโครงการ รวมถึงไปจนถึงผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะในด้านการประหยัดเวลาการเดินทาง (Value of Time Saving) มูลค่ามากกว่า 1,300 ล้านบาท/ปี
อย่างไรก็ตามทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากการที่ประชาชนสามารถนำค่าผ่านทางที่ประหยัดได้มาจับจ่ายใช้สอย รวมถึงช่วยลดก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพของเมือง และที่สำคัญคือ ลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของประชาชนในประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ