เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร 3,000 บาท นาน 7 ปี ช่วยแรงงานส่งลูกกลับบ้านเกิด

14 ต.ค. 2567 | 04:25 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2567 | 04:32 น.

ลุ้น “เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร” เพิ่มจากจากเดือนละ 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็นเดือนละ 3,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 7 ปี เฉพาะแรงงานประกันสังคม มาตรา 33 ที่มีลูกแล้วส่งกลับไปเลี้ยงบ้านเกิด พร้อมดันเข้าบอร์ดพิจารณา

วันนี้ (14 ตุลาคม 2567) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีแนวคิดการให้ “เงินสงเคราะห์บุตร” ของสำนักงานกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานตามมาตรา 33 ที่เป็นคนไทย หากใครที่มีบุตรเพิ่มขึ้น และไปเลี้ยงดูในชนบท หรือในต่างจังหวัด กองทุนฯ จะให้ค่าสงเคราะห์บุตร จากเดือนละ 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็นเดือนละ 3,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 7 ปี

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

สำหรับเงินสงเคราะห์บุตร ของสำนักงานกองทุนประกันสังคม นั้น ก่อนหน้านี้กองทุนฯ ได้กำหนดอัตราการจ่ายเงินสงเคราะห์บุตร 800 บาทต่อเดือน แต่ในปี 2568 ได้ปรับเพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม (บอร์ด) เรียบร้อยแล้ว 

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า แม้ว่าจะเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรให้แล้ว แต่ส่วนตัวต้องการจะเพิ่มแรงจูงใจในการให้ผู้ใช้แรงงาน ตามมาตรา 33 มีบุตรเพิ่มอีก เพราะมีแนวความคิดกับการที่จะเพิ่มประชากรให้กับประเทศไทยเฉพาะคนไทย เพราะผู้ใช้แรงงานปัจจุบันนี้มีความกังวลว่าเมื่อคลอดบุตรออกมาแล้วจะมีภาระการเลี้ยงดูบุตร เป็นภาระที่ยิ่งใหญ่มาก โดยเฉพาะในสังคมเมือง เพราะการที่จะต้องส่งลูกหรือส่งบุตรหลานไปเข้าโรงเรียนหรือเข้าสถานศึกษามีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง 

ดังนั้นจึงมีแนวความคิดเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร ล่าสุดได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงาน นําเรื่องนี้เข้าไปหารือกับบอร์ดประกันสังคม โดยใครที่เป็นผู้ใช้แรงงานตามมาตรา 33 เมื่อมีบุตรเพิ่มขึ้น และไปเลี้ยงดูในชนบท หรือในต่างจังหวัด กองทุนฯ จะให้เงินค่าสงเคราะห์บุตร จากเดือนละ 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเป็นเดือนละ 3,000 บาทต่อเดือน ตลอดระยะเวลา 7 ปี


“ตรงนี้ประกันสังคมก็จะต้องควักเงินอีกก้อนใหญ่ใหญ่ก้อนหนึ่ง แต่เป็นการสร้างความถาวร ให้กับแรงงานของประเทศไทยโดยการเพิ่มประชากรคนไทย ปัจจุบันนี้เรามีผู้ที่เกิดใหม่ กับผู้ที่เสียชีวิตไปไม่เท่ากัน ผู้เสียชีวิตมีมากกว่าคนที่เกิดใหม่ เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าประกันสังคมต้องสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกันตนว่าถ้าคุณสามารถกําเหนิดบุตร เพิ่มขึ้นหนึ่งคนค่าเลี้ยงดูบุตรเราจะให้เพิ่มจาก 1,000 บาทต่อเดือน เป็น 3,000 บาทต่อเดือน” นายพิพัฒน์ กล่าว

รมว.แรงงาน กล่าวว่า มาตรการนี้ คือแนวความคิดที่ตกผลึกว่าการที่จะสร้างให้ประเทศไทยเรามีการสร้างประชากรเพิ่มขึ้น สำนักงานประกันสังคมเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดและอยากจะเชิญชวนให้ผู้ใช้แรงงานได้มีบุตรเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับแรงงานของประเทศไทย ส่วนจะมีการกำหนดจำนวนบุตรไว้หรือไม่นั้น ยอมรับว่า ประมาณการไม่ได้ แล้วแต่ผู้ประกันตน ถ้าใครอยู่ในมาตรา 33 จะได้สิทธินี้ทันที

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

“เหตุผลที่มาตรการนี้ต้องส่งบุตรไปเลี้ยงในชนบท ว่า สังคมชนบทจะได้เปรียบเพราะต้นทุนการเลี้ยงดูบุตร ในชนบทถูกกว่าเพราะฉะนั้นอเราต้องสร้างจากชนบทกลับเข้ามาสู่เมือง คุณจะสร้างจากเมืองไปสู่ชนบทยาก เพราะฉะนั้นเราพยายามรณรงค์ให้สังคมชนบทเข้ามาสู่เมืองโดยผ่าน ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งอยู่ทำงานในเมือง แต่ขอให้คุณมีบุตรและคุณนําบุตร ไปให้กับปู่ย่าหรือตายายเลี้ยงในสังคมชนบท คุณจะได้สิทธิในการเลี้ยงดูบุตรทันที” รมว.แรงงาน ระบุ

อย่างไรก็ตามการเสนอเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรครั้งนี้ รมว.แรงงาน กล่าวว่า เบื้องต้นเป็นเพียงแนวความคิด ซึ่งจะขายความคิดผ่านทางสื่อมวลชนเป็นเบื้องต้น และเพื่อจะนําเข้าสู่บอร์ดประกันสังคมต่อไป ส่วนตัวไม่มีอำนาจ ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปประชุมในบอร์ดประกันสังคม เป็นหน้าที่ประธานบอร์ด โดยปลัดกระทรวงแรงงาน จึงทำได้อย่างเดียวคือเอานโยบายฝากให้ปลัดกระทรวงแรงงาน ไปหารือว่าเป็นไปได้หรือไม่