วันที่ 20 ธันวาคม 2567 นายสรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความกังวลถึงสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ประกอบกับที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาเรื่อง การศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เนื่องจากปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังระบาดในประเทศไทย โดยเฉพาะการวางขายอย่างแพร่หลายในพื้นที่ใกล้สถานศึกษาและตลาดชุมชน อันส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในวงกว้าง
“จากที่ได้เห็นในสังคมออนไลน์มีเด็กอายุต่ำสุด เพียง 1 ขวบ 7 เดือน สูบบุหรี่ไฟฟ้า บางคนเริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจังตั้งแต่อายุเพียง 6 ปี ทำให้เห็นได้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ แต่คือวิกฤตที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน”
นายสรรเพชญ ย้ำว่า ความล้มเหลวของมาตรการควบคุมในปัจจุบัน เป็นช่องโหว่สำคัญที่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงเด็กและเยาวชนได้ง่าย
“บริษัทบุหรี่กำลังใช้กลยุทธ์อันแยบยล โดยเจาะเป้าหมายไปที่เด็กและเยาวชน ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดใจ เปลี่ยนรูปร่างลักษณะของบุหรี่ไฟฟ้า ให้เป็นรูปการ์ตูนเพื่อดึงดูดเด็กและเยาวชน เช่น กลิ่นผลไม้ และขนม Toypod รูปการ์ตูนต่าง ๆ รวมถึงการขายผ่านช่องทางออนไลน์และในพื้นที่ชุมชนที่เข้าถึงง่าย”
นอกจากนี้ บริษัทบุหรี่ยังมีเป้าหมาย กลยุทธ์ เพื่อสร้างฐานผู้บริโภคระยะยาวในกลุ่มเยาวชน เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคบุหรี่ไฟฟ้า จะติดตัวพวกเขาจากพิษของนิโคตินไปจนโต
นายสรรเพชญ ยังได้เตือนถึงอันตรายจากสารเคมีในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยสารอันตรายหลายชนิด เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ (น้ำยาดองศพ) และ สารหนู ที่สามารถก่อมะเร็งและปัญหาสุขภาพร้ายแรงในระยะยาว
พร้อมชี้ให้เห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้อันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน แต่กลับทำให้เลิกยากกว่า และมีผลเสียต่อสุขภาพในวงกว้าง
นายสรรเพชญ ยังได้ตั้งคำถามถึงข้ออ้างที่ว่า การทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะช่วยเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษี โดยเน้นย้ำว่า ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เกิดจากการรักษาโรคภัยที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่มวน สูงกว่ารายได้จากการเก็บภาษีหลายเท่า และผลกระทบทางสุขภาพต่อเยาวชนไทยนั้น ไม่อาจประเมินค่าได้
ในตอนท้าย นายสรรเพชญ ได้เปิดเผยถึงบทบาทที่ตนมีต่อการสร้างความรู้เท่าทันในกลุ่มเยาวชน โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับ เครือข่ายนักสื่อสารรุ่นใหม่จังหวัดสงขลา ในการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อป้องกันปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน เช่น กิจกรรมพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันโทษและพิษภัยของผลิตภัณฑ์ยาสูบ การจัดเวทีสาธารณะโดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การโต้วาที การจัดนิทรรศการ และการสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการต่อยอดความรู้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้กับสังคม
“เราไม่ได้แค่พูดถึงปัญหา แต่ลงมือทำงานเชิงรุก ร่วมกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อสร้างเกราะป้องกันและภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งให้พวกเขา พร้อมทั้งปลูกฝังความรู้และความตระหนักรู้ที่ถูกต้อง เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้กลายเป็นพลังสำคัญในการส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้อง และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคม วันนี้เราจำเป็นต้องเร่งสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ครอบครัว และชุมชน เพื่อปกป้องลูกหลานของเราจากพิษภัยร้ายแรงของบุหรี่ไฟฟ้า ก่อนที่มันจะทำลายอนาคตของพวกเขาอย่างไม่อาจย้อนคืนได้”
นายสรรเพชญ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า "ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปกป้องอนาคตของเด็กและเยาวชนไทย ไม่ให้พวกเขาต้องเสียอนาคต เพราะพิษภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า"