นายกฯ สั่งด่วน 4 หน่วยงานแก้ปมร้อน “ดิไอคอนกรุ๊ป” บังคับใช้กฎหมายเข้ม

15 ต.ค. 2567 | 07:26 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2567 | 08:09 น.

นายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” สั่งด่วนแก้ปัญหาประเด็นร้อน “ดิไอคอนกรุ๊ป” รับเป็นเรื่องใหญ่ กระทบคนมาก เร่งบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด หาทางคุมและป้องกันไม่ให้ชาวบ้านเจอหลอกลวง

วันนี้ (15 ตุลาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจและขายสินค้าออนไลน์ว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดให้มีช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้ามาแจ้งเบาะแส การร้องเรียน และการแจ้งความได้อย่างสะดวกมากขึ้น 

พร้อมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เร่งกำหนดมาตรการ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการเข้ามายังธุรกิจขายตรงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประเด็นการหลอกลวงในอนาคต 

 

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

 

อีกทั้งยังมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้นำสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรองมาจำหน่ายผ่านธุรกิจขายตรง และระบบออนไลน์

ขณะเดียวกันยังมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ตรวจสอบและกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำธุรกิจที่เข้าขายแชร์ลูกโซ่ด้วย

ส่วนกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการจ่ายเงินให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องประจำทุกเดือนนั้น นายกฯ กล่าวว่า ได้หารือกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แล้ว ถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ และคิดว่าจะต้องสอบสวนรายละเอียดต่อไปว่าใครทำอะไรบ้าง 

"ตัวของคดีเองถ้าเป็นคดีของทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ก็อาจเข้ามาช่วย และถ้าดีเอสไอ ขอความร่วมมือกับทางตำรวจมาช่วย เพื่อทำเรื่องนี้ให้ละเอียดและดียิ่งขึ้น ก็ถือเป็นการทำงานที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนการรับส่วยหรือรับอะไรก็ขอให้ ผบ.ตร.ทำอย่างจริงจัง อย่าให้มีผู้เสียหายเพิ่มเติมอีก" นายกฯ ระบุ

ขณะที่ประเด็นที่มีการกล่าวอ้างว่ามี "สินบนเทวดา" จะตรวจสอบอย่างไรนั้น นายกฯ ระบุว่า ในกรอบกว้าง ๆ เราไม่อยากให้ธุรกิจที่จะทำให้เป็นการหลอกลวงชาวบ้านเกิดขึ้นอีก เพราะมีผู้ได้รับความเสียหายใหญ่กว่าที่คิดไว้มาก ดังนั้นจึงขอให้ทุกหน่วยงานทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ล่าสุดได้มอบหมายให้ดำเนินการเร็วที่สุด จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาแถลงให้ประชาชนทราบด้วย

 

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเข้าไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ว่าผิดตามมาตรา 341 และมาตรา 342 หรือไม่ รวมทั้งจะดูข้อกฎหมายตามพ.ร.ก.การกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ควบคู่กัน 

โดยจะดูทั้งการโฆษณา หรือจ่ายผลตอบแทนสูงกว่าสถาบันการเงินหรือไม่ หรือการนำเงินบุคคลอื่นมาจ่ายหมุนเวียนกับผู้มากู้ยืม และกิจการที่ประกอบนั้นชอบด้วยกฎหมายและต้องเห็นว่าผลประโยชน์จากการประกอบกิจการมีมากเพียงพอที่จะนำมาจ่ายได้หรือไม่

"กระทรวงการคลัง จะติดตามและดูว่าผลจากครั้งนี้จะต้องแก้ไขอะไรให้รัดกุมมากขึ้น หลังจากที่นายกฯ ได้มอบหมายให้มาดูเรื่องนี้แล้ว" นายพิชัย ระบุ