วันที่ 17 พ.ย.2567 เมื่อเวลา 17.07 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคาร “จักรีทศมรามาธิบดินทร์” ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงรอเฝ้า ฯ รับเสด็จ นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย รองศาสตราจารย์ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์คณะกรรมการสภากาชาดไทย และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เฝ้า ฯ รับเสด็จ
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ การดำเนินงานจัดสร้างอาคาร “จักรีทศมรามาธิบดินทร์” โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมทั้งกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ ฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร”จักรีทศมรามาธิบดินทร์”
จากนั้น เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่ออาคาร “จักรีทศมรามาธิบดินทร์” แล้วเสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายของที่ระลึก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เหรัญญิกสภากาชาดไทย เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายของที่ระลึก แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี รองศาสตราจารย์ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายของที่ระลึก แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้บริจาคเงินสมทบทุนในการก่อสร้างอาคารตามลำดับ
จากนั้นเสด็จออกจากพลับพลาพิธีทรงประเคนของที่ระลึก แก่พระราชวรญาณโสภณ (ชุบ ศรีจันอยู่)เจ้าอาวาสวัดธาตุทอง แล้วทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ประกอบด้วย “สืบสาน” จัดแสดงเรื่องราวในอดีตตั้งแต่การก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ พ.ศ. 2457 และพัฒนาการงานบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถึงปัจจุบัน
“รักษา” บอกเล่าเรื่องราวปัจจุบันที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ใช้เทคโนโลยีอันล้ำสมัย พร้อมทั้งจัดแสดงความสำเร็จ ของโครงการ “แสงแห่งความหวัง” โครงการรักษาพยาบาลด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ประกอบด้วย การรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน 72ราย การผ่าตัดโรคเนื้องอกในช่องอกและ ช่องท้องด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด 72ราย การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง 36 ราย การรักษาโรคทางกระจกตาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง 36 ราย ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมประชาชนทุกหมู่เหล่าทำให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่ใช้เทคโนโลยีอันซับซ้อน เข้าถึงได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง หายขาดจากโรค ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
“ ต่อยอด” เป็นการจัดแสดงก้าวไปสู่อนาคตโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการบริการผู้ป่วย ประกอบด้วย หุ่นยนต์จ่ายยา หุ่นยนต์ลงทะเบียนและคัดกรอง หุ่นยนต์ช่วยรักษามะเร็งไทรอยด์ และการผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หลากหลายรูปแบบ ในขั้นตอนการบริการต่าง ๆ และการปรับขั้นตอนบริการเพื่อให้ครบวงจรในจุดเดียว โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เสร็จแล้วเสด็จเข้าห้องรับรอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนาม อาคารศูนย์บูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ว่า “อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์” มีความหมายว่า อาคารเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระรามาธิบดินทรราชา รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ “อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์” ตั้งอยู่ระหว่างอาคาร ภปร และตึก สก. โดยเป็นส่วนต่อขยาย จากอาคาร ภปร เพื่อยกระดับมาตรฐานการคัดกรองและรักษาพยาบาลระบบผู้ป่วยนอก มุ่งบริการให้มีความสะดวก รวดเร็ว คุ้มค่า มากยิ่งขึ้น และก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์บูรณาการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มพื้นที่เชื่อมโยงการให้บริการผู้ป่วยนอกร่วมกับอาคาร ภปร ซึ่งเป็นอาคารผู้ป่วยนอกหลักของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มานานกว่า 30 ปี
ดังนั้น จึงนับว่า “อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์” เป็นอาคารผู้ป่วยนอกที่มีความสำคัญเป็นลำดับที่ 4 ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ได้สืบสานพระราชปณิธานในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญในการด้านการรักษาและต่อยอดสู่การพัฒนา อย่างยั่งยืน ยังเป็นสัญลักษณ์ในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ในการบำบัดโรคภัย ให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนถ้วนหน้าเสมอกัน
ตัวอาคารมีชั้นใต้ดิน 4 ชั้น และชั้นเหนือพื้นดิน 15 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 50,000 ตารางเมตร เชื่อมโยงระหว่าง อาคาร ภปร ทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวก และมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้นแบบครบวงจร เป็นต้นแบบการบริบาลผู้ป่วยนอกของประเทศ พร้อมทั้งเป็นการยกระดับการบริการ ทางการแพทย์และสาธารณสุขสู่มาตรฐานสากล.