กระทรวงอุตฯ ปั้น "SMEs" ใต้ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ดัน "GDP" ไทยขยายตัว

16 ต.ค. 2567 | 06:15 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2567 | 06:15 น.

กระทรวงอุตฯ ปั้น "SMEs" ใต้ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ดัน "GDP" ไทยขยายตัว เดินหน้านโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ออกมาตรการสนับสนุนและช่วยด้านเงิทุนนเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการต่อยอดพัฒนาธุรกิจ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ในพื้นที่ภาคใต้ และเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก 

โดยปัจจุบันประเทศไทยมี SMEs จำนวน 3.2 ล้านราย หรือประมาณ 90% ของวิสาหกิจทั้งประเทศและเป็นแหล่งจ้างงานจำนวนกว่า 12 ล้านคน ด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพี (GDP) ของ SMEs จำนวน 6.32 ล้านบาท หรือประมาณ 35.2% ต่อ GDP ประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาคธุรกิจ SMEs ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย

การพัฒนาศักยภาพทักษะในการสร้างความยั่งยืนและเทคโนโลยียุคใหม่ รวมทั้งสร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกันให้แก่ธุรกิจ จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถสร้างการเติบโต โอกาสทางการค้ารูปแบบใหม่ๆ และความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจได้ 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงมีมาตรการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนให้กับเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีแผนการสร้างแรงงานที่มีทักษะสูง โดยการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และการฝึกอบรมในสายงานที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อให้แรงงานมีความสามารถที่ตรงกับความต้องการของตลาด เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นในระยะยาว

กระทรวงอุตฯ ปั้น "SMEs" ใต้ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ดัน "GDP" ไทยขยายตัว

นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการท้องถิ่นกับตลาดต่างประเทศ ส่งเสริมการสร้างแบรนด์สินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีการวางแนวทางการปรับปรุงกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุน

อย่างไรก็ดี ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงความยั่งยืนในการผลิตเพื่อประโยชน์ระยะยาวทั้งต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญของกระบวนการผลิตยางพารา โดยการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสะอาดตั้งแต่ต้นทาง จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา สร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ประกอบการ และยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของสินค้ายางพาราในตลาดต่างประเทศ
 

นายเอกนัฏ กล่าวอีกว่า ล่าสุดได้มีการประชุมหารือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ (สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ตรัง พัทลุง และสตูล)  โดยทางภาคเอกชนได้มีข้อเสนอ ประกอบด้วย  

  • การส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการในพื้นที่ 
  • การพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมท้องถิ่น 
  • การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในพื้นที่เพื่อสร้างอัตลักษณ์ 
  • การยกระดับมาตรฐานการผลิตของวิสาหกิจชุมชน 
  • การส่งเสริมการใช้วู้ดเพลเลท (Wood pellets) หรือชีวมวลอัดแท่ง ซึ่งเป็นนวัตกรรมเชื้อเพลิงชีวมวลแทนการใช้พลังงานจากถ่านหินและพลังงานฟอสซิล สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ