KEY
POINTS
จากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยแรงสั่นสะเทือนทำให้ อาคาร สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ถล่มลงมา จนมีผู้บาดเจ็บ และ เสียชีวิตหลายราย
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 1 เม.ย. 2568 รัฐบาลได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาหารือ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งตรวจสอบหาสาเหตุที่ทำให้ ตึก สตง. ถล่ม เพื่อหาคำตอบให้ประชาชนให้ได้ และต้องมีคนรับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดขึ้น
น.ส.แพทองธาร แถลงหลังการประชุม ครม. ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกกระทรวงได้หารือกัน ตั้งแต่ก่อนเริ่มวาระการประชุม ได้ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบสาเหตุโดยเร็วที่สุด
เร่งหาสาเหตุตึก สตง.ถล่ม
นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอจากหลายหน่วยงาน ซึ่งต่างมีความรับผิดชอบในมิติที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกัน รัฐบาลเตรียมติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างอาคารจากประเทศ ที่มีประสบการณ์รับมือแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง เช่น ญี่ปุ่นและยุโรป เพื่อเข้ามาช่วยตรวจสอบและวิเคราะห์สาเหตุของอาคารพังถล่ม
นายกฯ ระบุว่า ได้สั่งการให้ตรวจสอบบริษัทผู้รับเหมาที่ก่อสร้างอาคาร สตง. รวมถึงทุกโครงการที่บริษัทนี้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อประเมินความปลอดภัย และป้องกันเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีก พร้อมย้ำว่า หากพบว่ามีการใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น เหล็กที่ไม่ผ่านเกณฑ์ อาจส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างอื่น ๆ ด้วย ซึ่งต้องตรวจสอบอย่างละเอียดและจริงจัง
"นี่เป็นเรื่องใหญ่ แม้จะเกิดขึ้นกับอาคารเพียงแห่งเดียว แต่กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย เราต้องหาคำตอบให้ประชาชนและชี้แจงต่อสังคมโลกว่าเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้คดีอยู่ในการดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กำลังพิจารณาข้อเท็จจริงอยู่" นายกรัฐมนตรี กล่าว
ผิดพลาดเฉพาะอาคารหนึ่ง
เมื่อถูกถามถึงแนวทางสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรี ตอบว่า รัฐบาลได้มีการสื่อสารกับต่างประเทศมาโดยตลอด ทั้งผ่านกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
โดยเน้นย้ำว่า อาคารในกรุงเทพฯ ต้องผ่านมาตรฐานความปลอดภัยด้านโครงสร้างตามกฎหมาย ซึ่งรวมถึงมาตรการรับมือแผ่นดินไหว ดังนั้น กรณีที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดเฉพาะอาคารหนึ่งแห่ง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
เข้มงวดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการตรวจสอบมาตรฐานบริษัทรับเหมา ว่า รัฐบาลจะเข้มงวดกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร เพื่อให้ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด
พร้อมชี้แจงว่า แม้ในกรณีนี้บริษัทที่เกี่ยวข้องจะเป็นความร่วมมือระหว่างไทยและจีน แต่รัฐบาลไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยการตรวจสอบจะพิจารณาตามข้อตกลงและสัญญาทางธุรกิจ ของแต่ละบริษัท ไม่ใช่เรื่องของสัญชาติ
"ไม่ว่าบริษัทจะเป็นของประเทศไหน ถ้าเข้ามาทำธุรกิจในไทย เราก็ต้องตรวจสอบทั้งหมด เราไม่ต้องการให้ต่างชาติมองว่าเรากำลังโฟกัสผิดพลาดไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องของโครงสร้าง ความปลอดภัย และมาตรฐานที่ต้องเป็นไปตามกฎหมายไทย" นายกฯ กล่าว
สั่ง8กระทรวงแก้ปัญหาทุกมิติ
ด้าน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกรัฐบาล เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม. ว่า นายกฯได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งตรวจสอบหาสาเหตุอาคาร สตง. ถล่ม หากไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงและดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ประเทศไทยจะประสบปัญหาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ 8 กระทรวงหลัก เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาทุกมิติ ตั้งแต่ การรับมือภัยพิบัติ มาตรฐานความปลอดภัยอาคาร ระบบเตือนภัย การคุ้มครองประชาชน และมาตรการทางกฎหมาย โดยเตรียมเชิญประเทศที่มี
ประสบการณ์ด้านภัยพิบัติ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป นิวซีแลนด์ และอิสราเอล มาร่วมให้ข้อมูล เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการรับมือแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพ
“ที่ประชุม ครม.ยังได้ติดตามความคืบหน้าการสอบสวนกรณีอาคาร สตง.พังถล่ม โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม รายงานว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังพิจารณารับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ หลังพบเครือข่ายนอมินีชาวต่างชาติถึง 17 บริษัท ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารดังกล่าว”
นายกฯลั่นต้องมีคนรับผิดชอบ
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะกรรมการสืบหาต้นเหตุของตึก สตง.ถล่ม มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย เป็นประธาน ให้เร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน หากมีความผิดต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
“อาคารก่อสร้างถล่มครั้งนี้ ต้องหาสาเหตุ และ หาผู้รับผิดชอบให้ได้ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะอยู่ยาก ต้องมีผู้รับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป”นายกฯ ระบุ
ด้าน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม รายงานผลการตรวจสอบวัสดุก่อสร้างอาคาร สตง. พบว่า เหล็กที่ใช้ในโครงการไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาคารพังถล่ม โดยจะส่งข้อมูลให้พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังพบว่า บริษัทผู้รับเหมารายนี้เคยรับงานภาครัฐไปแล้ว 11 โครงการ โดย 10 โครงการยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และ 1 โครงการที่สร้างเสร็จแล้ว เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งจะเข้าทำการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยในลำดับต่อไป
3ปม“ยุติธรรม”ตรวจสอบ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยถึงกรณีอาคาร สตง.ถล่ม ว่า การเยียวยาจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางอาญา หากมีการร้องทุกข์กล่าวโทษในกรณีที่อาจเข้าข่ายประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต ก็จะเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย
พ.ต.อ.ทวี เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรมกำลังตรวจสอบบริษัทก่อสร้างอาคาร สตง. ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.การประกอบธุรกิจโดยบุคคลต่างด้าวที่อาจใช้นอมินี จากการตรวจสอบงบการเงินของบริษัทที่เกี่ยวข้อง พบว่า ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการเสียภาษี และมีการกู้ยืมเงินภายในบริษัทกว่า 2,000 ล้านบาท แม้ว่ากฎหมายไทยจะกำหนดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% และคนไทย 51% พบว่า มีบริษัทลักษณะเดียวกันถึง 10 แห่งที่ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม และหากพบว่า อำนาจบริหารอยู่ในมือของชาวต่างชาติจริง ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และเข้าข่ายที่จะให้ดีเอสไอเข้าไปดำเนินการหรือไม่
2.มาตรฐานวัสดุก่อสร้าง กระทรวงอุตสาหกรรม และ ดีเอสไอ กำลังตรวจสอบว่า วัสดุก่อสร้างที่ใช้มีมาตรฐานตามที่กำหนดหรือไม่ หากพบว่าวัสดุไม่ได้มาตรฐาน อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาคารถล่ม และอาจเข้าข่ายกระทำผิดทางอาญา
3.การฮั้วประมูลโครงการก่อสร้าง เบื้องต้นพบว่า บริษัทที่ชนะการประมูลเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเพียง 1% ซึ่งเป็นอัตราที่ผิดปกติ เพราะตามหลักการแล้ว หากมีการแข่งขันจริง ราคาควรต่ำกว่าราคากลางประมาณ 10-15% ดีเอสไอจึงมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบว่ามีการสมยอมราคาในการประมูลหรือไม่
เร่งสอบเครือข่ายบริษัทก่อสร้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า บริษัท ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ มีบริษัทในเครือข่ายถึง 24 แห่ง พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อธิบดีดีเอสไอได้รับมอบหมายให้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการตรวจสอบ โดยเน้นไปที่ประเด็นสำคัญ ได้แก่ เหตุใดอาคารสำนักงาน สตง. จึงเป็นเพียงอาคารเดียวที่ได้รับความเสียหายรุนแรง และมีการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่
ทั้งนี้ การตรวจสอบจะครอบคลุมถึงประเด็นด้านภาษี โดยจะมีการร่วมมือกับกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม
เมื่อถามว่าการสอบสวนจะมุ่งเน้นไปที่บริษัท ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ก่อนหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า นายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงยุติธรรมร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อตรวจสอบธุรกิจของชาวต่างชาติที่ดำเนินการในประเทศไทย โดยใช้โครงสร้างนอมินี หากพบว่า มีการครอบงำทางธุรกิจโดยชาวต่างชาติ ในลักษณะที่ฝ่าฝืนกฎหมาย จะต้องมีมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมต่อไป
ดีเอสไอเร่งตรวจสอบ‘นอมินี’
พ.ต.อ.ทวี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากกรณีอาคารสำนักงาน สตง. รัฐบาลยังมีแผนตรวจสอบธุรกิจอื่น ๆ ที่อาจใช้โครงสร้างนอมินีในลักษณะเดียวกัน โดยสั่งการให้ สำนักความมั่นคงของดีเอสไอ เป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทย เพื่อให้แน่ใจว่า เงินลงทุนและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ตกอยู่กับคนไทยตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า เบื้องต้นพบว่า บริษัทนี้เกี่ยวพันกับบริษัทอื่นๆ อีกประมาณ 13 บริษัท ทั้งหมดทำงานและรับงานที่ไหนบ้าง จะตรวจสอบและดำเนินการอย่างเข้มข้นตามกฎหมายที่มีอยู่ทุกฉบับ
เมื่อถามว่ามีคนไทยเข้าไปเป็นนอมินีให้กับบริษัทดังกล่าว นายนภินทร กล่าวว่า ในเบื้องต้นมีคนไทยถือหุ้น แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าเป็นนอมินีหรือไม่ ต้องให้มีข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ก่อน