รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือ ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" กรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ว่า น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ กนง. จะตัดสินใจในรูปแบบดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลแจกเงินสด 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบางก็ไม่ได้มีผลต่อภาวะเงินเฟ้อมากมายเท่าใดนัก
อีกทั้งแนวโน้มดอกเบี้ยในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาเองก็อยู่ในสภาวะขาลง และมีทิศทางลดลงต่อ แม้อาจจะลดแค่ 0.25% แต่เชื่อว่าปี 2568 ก็น่าจะลดลงอีก ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจเองแม้ว่าจะอยู่ในภาวะขยายตัว แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ค่อยแข็งแรงเท่าใดนัก
"หากจากภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ และแนวโน้มดอกเบี้ยที่ลดลง หาก กนง. ยังไม่ยอมลดดอกเบี้ย ก็จะทำให้ช่องว่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับต่างประเทศห่างกันออกไป ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการโยกย้ายเงินทุนได้"
นอกจากนี้ ที่สำคัญต้องยอมรับด้วยว่าแรงกดดันทางการเมือง และความรู้สึกของนักธุรกิจก็น่าจะมีส่วนทำให้ กนง. ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เพราะเป็นการตัดสินใจที่มาจากดุลยพินิจ ไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนระบุว่าต้องเป็นอย่างไร ถึงจะลดดอกเบี้ยได้
ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้จึงเป็นเสมือนแรงกดดัน บวกกับสถานการณ์ที่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลได้ว่า สมควรแก่เวลาที่จะลดดอกเบี้ย แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีหลายฝ่ายมองว่า กนง. ยังไม่น่าลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้
รศ.ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า สถานการณ์ตอนนี้การจะลดดอกเบี้ยเลย หรือลดในการประชุมครั้งหน้าก็คงไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก เพราะเป็นสภาวะที่พร้อมจะลดดอกเบี้ยได้ เพียงแต่ กนง. จะตัดสินใจเมื่อไหร่เท่านั้น ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ
อย่างไรก็ดี การลดดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งแน่นอนย่อมช่วยลดค่าใช้จ่าย หรือภาระทางด้านการเงินให้กับผู้กู้ แต่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ขนาดไหนคงไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน