นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” หลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 16 ตุลาคม 2567 ได้มีมติ 5 : 2 ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 2.50% เหลือ 2.25% ต่อปี ถือเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี (จากที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% มาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2566) ว่า ต้องขอขอบคุณ กนง. ที่เข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา และพยายามปรับสมดุลในครั้งนี้
"การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งนี้ 0.25% ถือว่ามีสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ มองเห็นอนาคตในการช่วยประคอง และลดต้นทุนทางการเงิน รวมทั้งภาคส่งออกและท่องเที่ยวซึ่งเป็นสัดส่วนหลักของเศรษฐกิจไทยไม่ถูกกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนมากเกินไป"
สำหรับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ภาคเอกชนมีความคาดหวัง จะมีการปรับลดมาโดยตลอด ทั้งนี้เพื่อช่วยกดค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงเพื่อช่วยภาวะลดต้นทุนทางการเงิน ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก
แต่ที่ผ่านมาก็อยู่ที่การตัดสินใจของ กนง.ที่ต้องนำปัจจัยที่หลากหลายรอบด้าน มาใช้ในการพิจาณาเพื่อปรับลดดอกเบี้ย ไม่ได้มองแค่มิติช่วยเหลือผู้ประกอบการ หรือผู้ส่งออกเพียงอย่างเดียว เช่น พิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจในภาพรวม ดูเรื่องเงินเฟ้อ ตลาดแรงงาน สภาพคล่องในระบบการเงิน ภัยธรรมชาติ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายการเงินของแต่ละประเทศ และอื่น ๆ
“ช่วงก่อนหน้าต้องบอกว่าการปรับลดอะไรแต่ละครั้งไม่ค่อยทันเหตุการณ์เท่าไหร่ เพราะตอนที่เราเงินบาทแข็งค่าเร็ว และขึ้นไปมาก ๆ ในจังหวะนั้น ที่เอกชนต้องการคือเรื่องของเทคนิคมีวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือแบงก์ชาติแค่ออกมาแทรกแซงด้วยคำพูด เช่น เราจะดูแลค่าเงินอย่างเต็มที่ ไม่ให้แข็งเร็ว อ่อนเร็ว หรือดูแลไม่ให้เกิดความผันผวน อะไรอย่างนี้ ก็จะช่วยลดความกังวลของผู้ประกอบการได้มาก ซึ่งตอนหลังเขาก็ออกมาพูดแล้ว และเบรกค่าเงินได้พอสมควร ทำให้ความวิตกกังวลของผู้ประกอบการหายไประดับหนึ่ง”
อย่างไรก็ดี ในข้อเท็จจริงในจังหวะที่ผู้ประกอบการส่งออกมีความกังวลมาก และเห็นว่าไม่มีใครช่วยอะไรได้แล้ว ก็ต้องใช้วิธีป้องกันตัวเองโดยการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน(forward) ซึ่งการทำ forward เข้าไปมาก ๆ หมายถึงการขายเงินดอลลาร์ของตัวเองออกไปล่วงหน้า ไม่ว่าสินค้านั้นจะส่งมอบให้กับลูกค้าในอีก 3 เดือน หรือ 4 เดือนข้างหน้า ในราคาที่ยอมตัดใจขายขาดทุน เพราะไม่เช่นนั้นหากเงินบาทผันผวน และแข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ จะยิ่งขาดทุนไปมากกว่านี้
ขณะที่บางรายไม่สามารถเสนอราคาขายสินค้าให้กับลูกค้าหรือคู่ค้าได้ เพราะหากเสนอขายแปลว่า ยอมรับการขาดทุน เพราะสินค้าส่งออกจำนวนมากมีมาร์จิ้น หรือกำไรไม่ถึง 10% คู่ค้าไม่สามารถยอมรับราคาที่ขยับขึ้นแรงได้ ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศปลายทางอยู่ในช่วงขาลง
"ปกติแล้วการแข่งขันการส่งออกด้วยค่าเงิน ไม่ว่าประเทศใด ๆ ก็ตาม รวมถึงประเทศไทย ควรจะแข็งค่าด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต แข็งค่าด้วยยอดการส่งออกที่ขยายตัว ส่งออกได้มาก ดุลบัญชีเดินสะพัดพุ่งสูง หรือมีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก จนดุลบัญชีเดินสะพัดขึ้นสูง ก็จะทำให้ค่าเงินแข็งค่าโดยอัตโนมัติ แบบนี้เป็นการแข่งขันที่มีเหตุมีผล"
แต่การแข่งขันของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา หลัก ๆ แล้ว มาจากประเทศคู่ค้าลดอัตราดอกเบี้ย เช่น ล่าสุดสหรัฐลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแรง 0.50% เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี และปัจจุบันไทยค้าขายใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลหลัก พอสหรัฐลดดอกเบี้ย ก็จะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า สวนทางกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าซึ่งรวมทั้งไทยเงินบาทแข็งค่าขึ้น หากไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายลงตาม ค่าเงินก็จะแข็งค่าขึ้นโดยอัตมัติ กระทบกับภาคการส่งออก ดังนั้นการแก้ปัญหาของภาครัฐต้องทันกับสถานการณ์
"ค่าเงินบาทจะแข็งขึ้นได้ในช่วงปกติ ด้วย 2-3 เหตุผล เช่น การส่งออกของเราไปได้ดี เหตุผลจากการท่องเที่ยวไปด้วยดี คือมีเงินเข้าประเทศเยอะ หรือมีเงินเข้ามาลงทุนมากจากต่างประเทศ(FDI) ที่มาลงทุนสร้างโรงงาน หรือมาซื้อกิจการในเมืองไทย หรือการลงทุนในตลาดหุ้นเพื่อเก็งกำไร ซึ่งถือเป็นไปตามศักยภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง"
นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่น ปรับลดลง 0.25% ในครั้งนี้ จะช่วยภาคเอกชน และผู้ประกอบธุรกิจได้ อย่างน้อยเรื่องความกังวลหรือความผ่อนคลายทางธุรกิจ การทำธุรกิจจะมีมากขึ้นจากต้นทุนทางธุรกิจจะลดลงในอนาคต เพราะดอกเบี้ยนโยบายเป็นอัตราดอกเบี้ยชี้นำให้ธนาคารพาณิชย์ ปรับลดลงตาม แต่ไม่ใช่ กนง.มีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้วธนาคารพาณิชย์จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามทันที แต่จะส่งผลให้มีการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในอีก 3 เดือน หรือ 6 เดือนข้างหน้า
ขณะที่ในข้อเท็จจริง ณ ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้า ในส่วนของลูกค้ารายใหญ่คิดดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ประมาณ 5-7% รายกลาง รายย่อย ตั้งแต่ 8% ไปถึง 10% หรือ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% หรือ 2.25% แล้วจะได้ตาม เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะใช้ในการอ้างอิงเท่านั้น ที่จริงสูงมากกว่านั้น