เปิดโครงสร้าง "บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ" หลังนายกฯลงนามแต่งตั้ง

26 ต.ค. 2567 | 01:29 น.

เปิดโครงสร้าง "บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ" หลังนายกฯลงนามแต่งตั้ง ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ให้แล้วที่นี่ ชี้เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ระดับโลกที่มีการแข่งขันดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศที่รุนแรง

อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ในระดับโลก ซึ่งมีการแข่งขันดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศที่รุนแรง เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของหน่วยประมวลผลและผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูงเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ เครื่องมือแพทย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รวมถึงเทคโนโลยี AI ต่าง ๆ โดยอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง มีแนวโน้มการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ และจะทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต จากการแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างประเทศ

ล่าสุดประเทศไทยโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ หรือบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ
 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับโครงสร้างของ "บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ" พบว่าประกอบด้วย

  • นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ประธาน
  • นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี รองประธาน 
  • นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) กรรมการและเลขานุการ

กรรมการ ประกอบด้วย 

  • นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ 
  • นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 
  • นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 
     
  • นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
  • นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 
  • นายดนุชา พิชยนันท์ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ 
  • เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 
  • นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) 
  • ม.ล.ชโยทิต กฤดากร 
  • นายวุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ 
  • นายศุภกร คงสมจิตต์


สำหรับบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ฯนั้น จะทำหน้าที่กำหนดทิศทางนโยบาย และเป้าหมายในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (Semiconductor and Advanced Electronics) พร้อมทั้งจัดทำแผนแม่บท (Roadmap) ของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นรูปธรรมและครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านการส่งเสริมการลงทุน

การกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม การพัฒนาบุคลากรทักษะสูงทั้งในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา การพัฒนา Supply Chain และการพัฒนาระบบนิเวศที่จำเป็นต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรม 

นอกจากนี้ บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ฯ จะมีหน้าที่ในการพิจารณาแผนงานและโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งการบูรณาการและติดตามประเมินผลการดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม