กรณีที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 ตุลาคม 2567 อนุมัติหลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานานและกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาจักร เพื่อแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลของเด็ก นักเรียน นักศึกษา และบุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย ทั้งกลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในประเทศกว่า 483,626 คน นั้น
ล่าสุด กระทรวงมหาดไทย ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาของครม. สำหรับกระบวนการให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแก่กลุ่มบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน ดังนี้
ควรกำหนดให้บุคคลดังกล่าวสามารถพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจ ยกเว้น ผู้ขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายฯ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผู้พิการ มีความบกพร่องทางการได้ยิน ทางการสื่อสาร ทางจิตใจ และทางพฤติกรรม
ให้ยกเลิกการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาให้สัญชาติไทยและให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่ชนกลุ่มน้อยระดับจังหวัด และคณะกรรมการพิจารณาให้สัญชาติไทยและให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่ชนกลุ่มน้อย
เป็นการให้นายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ใช้อำนาจตาม มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้นายอำเภอ กรณีผู้ยื่นคำขอมีภูมีภูมิลำเนาในจังหวัดอื่นนอกเขตกรุงเทพฯ โดยให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับผู้กำกับการขึ้นไปในพื้นที่ที่ทางจังหวัดมีคำสั่งแต่งตั้ง ร่วมรับรองความประพฤติของผู้ยื่นคำขอนั้น
รวมทั้งควรมอบหมายให้นายอำเภอเป็นผู้พิจารณาอนุญาตและให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติตามแนวทางที่กรมการปกครองเห็น โดยต้องไม่ทำให้เกิดการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนและล่าช้า หากพบว่า มีพฤติการณ์หรือไม่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็ให้นายอำเภอดำเนินการเพิกถอนการอนุญาตต่อไป
อย่างไรก็ตามเนื่องจากการออกหนังสือรับรองการได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร โดยให้ถือว่าหนังสือรับรองฯ ดังกล่าวเทียบเท่าใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ซึ่งตาม มาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ต้องมีการสลักหลังใบสำคัญถิ่นที่อยู่สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราขอาจักรโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ประสงค์จะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรและจะกลับเข้ามาอีก
ดังนั้น จึงควรปรับแก้ไขให้บุคคลกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ได้รับหนังสือรับรองฯ จากกระทรวงมหาดไทย หากมีความประสงค์จะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรและจะกลับเข้ามาอีก ก็ให้ยื่นคำขอต่อ ผอ.สำนักกิจการความมั่นคงภายในหรือนายอำเภอ เพื่อความในการปฏิบัติงานและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ยังให้ผู้ขอรับหนังสือรับรองการได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศของกระทรวงมหาดไทยด้วย
อย่างไรก็ตามที่ประชุมครม.ได้รับทราบข้อเสนอดังกล่าวจากกระทรวงมหาดไทย โดยให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รับความเห็นไปพิจารณาให้ได้ข้อยุติที่ถูกต้องชัดเจน ก่อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติครม.ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ก่อนหน้านี้ สมช. แจ้งสาระสำคัญที่เสนอต่อครม.ว่า ที่ผ่านมา สมช. ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวแก้ไขปัญหาผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล หลังพบว่าการยื่นคำขอเจ้าหน้าที่ ต้องมีการสอบสวนผู้ขอและพยานบุคลที่น่าเชื่อถือ ประกอบพยานหลักฐาน เอกสารต่าง ๆ หลายขั้นตอน ขณะที่เจ้าหน้าที่มีความรู้เชี่ยวขาญมีไม่เพียงพอรองรับจำนวนคนยื่นขอพิจารณาสถานะเป็นจำนวนมาก
โดยที่ผ่านมาได้สำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติกลุ่มเป้าหมายและผ่อนผันให้อาศัยอยู่ชั่วคราวในพื้นที่ที่กำหนด ที่มีการรับรองสถานะให้กลุ่มเป้าหมายสามารถอาศัยอยู่ในประเทศอย่างถาวรแล้ว พบว่า มีชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ (กลุ่มเป้าหมาย 19 กลุ่ม) ที่อยู่ในไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 825,635 คน
ล่าสุดได้ดำเนินการให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (ใบสำคัญถิ่นที่อยู่) และอนุมัติให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มเป้าหมายไปแล้ว 342,009 คน ยังคงเหลือกลุ่มเป้าหมายที่รอการพิจารณากำหนดสถานะมากถึง 483,626 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2567) มีรายละเอียด ดังนี้
สำหรับการดำเนินการของทั้งสองกลุ่มนั้น หากนับเฉพาะผู้ที่กำลังรอพิจารณากำหนดสถานะ รวมกว่า 483,626 คน หากไม่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์คาดว่าจะใช้เวลาถึง 44 ปี ถึงดำเนินการเสร็จสิ้น ดังนั้นจึงได้เสนอแก้ไขหลักเกณฑ์โดยการปรับลดระยะเวลาในการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ให้รวดเร็วมากขึ้น