กระทรวงอุตฯ-โทคุชิมะ ญี่ปุ่นปั้น "อุตสาหกรรมใหม่" บูมเศรษฐกิจ 1,000 ล้าน

31 ต.ค. 2567 | 07:36 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ต.ค. 2567 | 07:36 น.

กระทรวงอุตฯ-โทคุชิมะ ญี่ปุ่นปั้น "อุตสาหกรรมใหม่" บูมเศรษฐกิจ 1,000 ล้าน มุ่งยกระดับผู้ประกอบการไทยให้เติบโตต่อไปได้ในตลาดสากล และเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯได้ดำเนินการร่วมกับจังหวัดโทคุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้เติบโตต่อไปได้ในตลาดสากล และเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเกิดจากการสั่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งหาช่องทางขยายความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ

โดยเป็นตามนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรม การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs ไทย รวมถึงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นการSave อุตสาหกรรมไทย เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ 

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีดีพร้อม กล่าวว่า ดีพร้อมมีการร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย และในวันนี้ 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดได้ดำเนินการร่วมมือและเชื่อมโยงธุรกิจกับจังหวัดโทคุชิมะที่เป็นแหล่งพัฒนาเทคโนโลยีด้านเครื่องจักร เทคโนโลยีการเกษตร และเกษตรแปรรูป ซึ่งสอดรับกับนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรม เกิดการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเดิมสู่อุตสาหกรรมใหม่ เช่น เกษตรอุตสาหกรรม เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อาหารแห่งอนาคต ที่ล้วนเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งคาดว่าจากความร่วมมือดังกล่าวจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,000 ล้านบาท
 

นายโกโตดะ มาซาซูมิ ผู้ว่าราชการจังหวัดโทคุชิมะ กล่าวว่า จังหวัดโทคุชิมะตั้งอยู่ในภูมิภาคชิโกกุ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เกาะ ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นเกาะที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทำให้จังหวัดโทคุชิมะ มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมเกษตร ประมง และอาหารแปรรูป รวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องจักร ยานยนต์ และแบตเตอรี่ 

"หวังว่าความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน รวมถึงขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ และทำให้เศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นได้เติบโตควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างสมดุล มั่นคง และยั่งยืน"