หลังจากที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.9% ในปี 2566 และคาดว่าจะขยายตัว 2.5% ในปี 2567 โดยไตรมาส 1 และ 2 ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ และยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบทิศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่เอสเอ็มอีไทยยังคงเผชิญปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์
“ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “แสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ถึงสถานการณ์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในขณะนี้ โดย “แสงชัย” ระบุว่า การลดอัตราดอกเบี้ยเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ยังไม่เพียงพอ ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี เช่น การลดภาระดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน การปรับโครงสร้างหนี้ และการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน
นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนา Financial Literacy เพื่อให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการหนี้สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ เช่น ธุรกิจ BCG, อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ S-curve เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ต้องมีความต่อเนื่องในการดำเนินการเร่งช่วยเหลือใน 5 มิติร่วมด้วย คือ
1. การลดภาระดอกเบี้ยของภาคประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบรายได้ลด กำลังซื้อหดตัว ประชาชนขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การกระตุ้นเศรษฐกิจยังไม่เกิดแรงกระเพื่อมตรงกลุ่มเป้าหมาย
2. ช่วยประคองสถานการณ์หนี้ครัวเรือนได้บางส่วน ชะลอปัญหาความสามารถในการชำระหนี้เป็นหนี้เฝ้าระวัง (Special Mention) และหนี้เสีย (NPL) กับสัญญาณหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรถยนต์ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
3. การลงทุนมีโอกาสในการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จากต้นทุนทางการเงินที่ลดลงซึ่งส่งผลต่อการลงทุนของธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้เพิ่มมากขึ้น การขยายตัวของสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจ BCG อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ S-curve เป็นต้น
4. อัตราค่าเงินบาทปรับสมดุลอ่อนลง ส่งผลให้ขีดความสามารถภาคการส่งออกของประเทศปรับตัวได้ดีขึ้น
5. ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่การบริโภคเพิ่มขึ้น เพิ่มโอกาสตัวเร่งทางเศรษฐกิจนอกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ปัจจัยเสี่ยงสงครามภูมิรัฐศาสตร์ ภัยพิบัติธรรมชาติ เสถียรภาพทางการเมืองยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นประชาชนด้วย
ทั้งนี้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25% ยังไม่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างทันทีต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการแสดงผลลัพธ์ ขณะที่ความคาดหวังของภาคประชาชนและเอสเอ็มอีที่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวลดลงเพิ่มอีกอย่างน้อย 0.25% เพื่อประคองสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การประยุกต์ใช้ AI ธุรกิจคาร์บอนต่ำสู่เศรษฐกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน นายแสงชัยกล่าวเสริม
อย่างไรก็ดีแม้สถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน แบงก์กำไรพุ่ง แต่สินเชื่อหดตัว 3 แสนล้านบาท อย่างมีนัยสำคัญ เอสเอ็มอีเรียกร้องความช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ไทยทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 9 เดือน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจหนักที่สุด
“สาเหตุที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีผลประกอบการที่ดี ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้าสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับผู้ฝากเงิน ทำให้ธนาคารมีรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่สูงขึ้น ต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง ธนาคารหลายแห่งได้ปรับลดจำนวนสาขาและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ทำให้ลดต้นทุนลงได้รวมถึงกลยุทธ์การลงทุนธนาคารบางแห่งหันไปลงทุนในธุรกิจที่มีผลตอบแทนสูง เช่น ตราสารหนี้ หรือธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สินเชื่อ”
สิ่งที่สถาบันการเงินภาครัฐควรเข้ามาสร้างสมดุลทางการตลาดและเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำเพื่อเพิ่มผลิตภาพทางธุรกิจของเอสเอ็มอี คือ 1. บสย. ต้องค้ำประกันสินเชื่อให้กับสถาบันการเงินของรัฐและเพิ่มการค้ำประกันให้กับกองทุนต่างๆ เพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำให้กับผู้ประกอบการและประชาชน 2. กลไกการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ของสถาบันการเงินรัฐต้องมีการบูรณาการร่วมกัน เพื่อลดต้นทุนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอย่างมีระบบและมีการส่งต่อ
3. กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fundหรือ FIDF) ไม่ควรลดแบบไม่มีเป้าหมายตัวชี้วัดที่ชัดเจน และอ้างการเพิ่มการเข้าถึงของเอสเอ็มอีเพื่อใช้ประโยชน์ จากอดีตที่ผ่านมาช่วงโควิดที่มีการลดอัตราการส่งเงินสมทบเข้า FIDF ลงครั้งหนึ่งแต่ไม่มีผลลัพธ์กับการกระจายการเข้าถึงแหล่งทุนให้เอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าใด สุดท้ายจะกลายเป็น “ลดเงินส่ง FIDF เพื่อผลกำไรที่เพิ่มขึ้น” ไม่ใช่เพิ่มโอกาสให้เอสเอ็มอี
4. ยกระดับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐเพื่อรายย่อย เพื่อให้เป็นแหล่งทุนต้นทุนต่ำของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อย เพิ่มสภาพคล่องตัวด้วยบัตรเครดิตการค้าหรือดิจิทัลวอลเลตเอสเอ็มอี และ5. การใช้นิยาม “เอสเอ็มอี” ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสร้างตัวชี้วัดผลลัพธ์ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำฐานข้อมูลมาวิเคราะห์กำหนดนโยบาย กลุ่มเป้าหมายที่ตรงเป้ามากยิ่งขึ้น
“เอสเอ็มอีไทยเผชิญปัญหา และภาครัฐต้องเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่ เมื่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เอสเอ็มอี ที่ต้องเผชิญกับคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างหนัก”
นายแสงชัย ย้ำว่า ปัญหาของเอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ขาดทักษะที่จำเป็น เช่น ทักษะด้านดิจิทัล เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก เอสเอ็มอีไทยยังคงเผชิญปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำโครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้ออำนวย โครงสร้างพื้นฐานของประเทศยังไม่เพียงพอและมีประสิทธิภาพเพียงพอในการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ และกฎระเบียบที่ซับซ้อน กฎระเบียบที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกิดความสับสนและต้องใช้เวลามากในการดำเนินธุรกิจ
“วอนภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีไทย ภาครัฐควรเร่ง ส่งเสริมการพัฒนาทักษะ จัดฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ เช่น ด้านดิจิทัล เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สนับสนุนให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ Green Finance และสร้างกองทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนของเอสเอ็มอี ลดขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ ปฏิรูปกฎระเบียบที่ซับซ้อนและไม่จำเป็น เพื่อลดภาระให้กับผู้ประกอบการ สร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการเติบโตของเอสเอ็มอี สร้างระบบนิเวศน์ที่ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเอสเอ็มอี”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,041 วันที่ 3 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567