เล็ง “พักหนี้เอสเอ็มอี” นาน 6 เดือน รัฐรับลูกเอกชน ต่อลม SME ถูกยึดรถ

30 ก.ย. 2567 | 09:12 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2567 | 09:26 น.

บอร์ดเอสเอ็มอี ประชุมนัดแรก รับลูกเอกชนเสนอขอช่วย “พักหนี้เอสเอ็มอี” นาน 6 เดือน หลังพบส่วนใหญ่เจอปัญหาการเงิน ถูกยึดรถ พร้อมเร่งให้แก้ปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้าไทย

วันนี้ (30 กันยายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดเอสเอ็มอี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับข้อเสนอภาคเอกชนเกี่ยวกับแนวทางการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็ก ๆ หรือ Micro SMEs ผ่านมาตรการการพักหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรถยนต์กระบะ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน 

 

การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดเอสเอ็มอี)

 

ทั้งนี้เนื่องจากรถยนต์กระบะ ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของกลุ่มเอสเอ็มอี หลังจากพบปัญหาว่า เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ในขณะนี้ประสบปัญหาด้านการเงิน จนอาจทำให้รถกระบะที่ใช้ทำมาหากินถูกยึด

"รถกระบะ เป็นเครื่องมือในการทำมาหากินกำลังจะถูกยึดจำนวนมาก และช่วงนี้ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรกำลังจะมาถึงแล้ว ถ้ายึดรถกระบะไปแล้ว จะทำให้เดือดร้อนและลำบากมาก จึงเสนอให้รัฐบาลช่วยปลดทุกข์ให้ ทั้งการพักหนี้ให้สัก 6 เดือน อย่าเพิ่งไปยึดรถ ซึ่งประธานในที่ประชุมก็เห็นด้วย และถือเป็นแผนควิกวินในการช่วยเหลือประชาชน โดยจะนำเรื่องนี้เสนอให้นายกรัฐมนตรี รับทราบต่อไป"

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังรับทราบข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสินค้าจากประเทศจีนทะลักเข้าไทย ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐมีกฎหมายดูแลอยู่แล้ว เช่น กฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานอุตสาหกรรม แต่กลับดูแลไม่ทั่วถึง ดังนั้นจึงเสนอให้หน่วยงานต่าง ๆ เร่งรัดการตรวจสอบและจับกุมสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานอย่างรวดเร็ว 

 

คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดเอสเอ็มอี)

 

เช่นเดียวกับสินค้าผิดกฎหมายประเภทต่าง ๆ ที่ลักลอบผ่านศุลกากร จึงเสนอให้หาทางสกัดสินค้าตั้งแต่ต้นทาง และในอนาคตอาจต้องไปเจรจากับจีนให้ช่วยหาทางสกัดอีกทางหนึ่ง รวมทั้งการค้าขายออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ เช่น ช้อปปี้ หรือ ลาซาด้า ซึ่งจะต้องหาทางเก็บภาษีที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการจัดเก็บรายได้รั่วไหลด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวน 10 คน ซึ่งขณะนี้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมฯ ได้ขอลาออก จำนวน 3 คน ประกอบด้วย

  1. นายกฤษ ศรีฟ้า ผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งประกอบการในภูมิภาค (ภาคใต้) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป
  2. นายวิกรม เตชะธีราวัฒน์ ผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งประกอบการในภูมิภาค (ภาคเหนือ) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
  3. นายพสุ เดชะรินทร์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2567 เป็นต้นไป  

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประจำปี 2568 และมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือองค์การเอกชนที่ต้องรายงานสถิติข้อมูลต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่มีหน้าที่ตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. ....