สนพ. ชี้ OCA หนุนแผนจัดการก๊าซธรรมชาติ ดันโรดแมปพลังงาน สร้างกลไกราคา

06 พ.ย. 2567 | 08:02 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2567 | 09:25 น.

สนพ. ชี้แผนพัฒนาแหล่งก๊าซจากการฟื้นฟูการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล OCA จะสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานชาติ พร้อมขับเคลื่อนโรดแมประยะกลาง ให้มีกลไกลการแข่งขันด้านราคา ชู Utility Green Tariff ดันให้เกิดตลาดไฟฟ้าเสรี

วันนี้ (6 พ.ย.) “ฐานเศรษฐกิจ” จัดงานสัมมนา พลังงานราคาถูก.. ทางรอดเศรษฐกิจไทย ในช่วง Panel Discussion: ทางรอด พลังงานไทย ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

 

ส่วนหนึ่งของการสัมมนา นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)  เปิดเผยว่า ตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) ของสนพ. มองว่า ดีมานด์อาจไม่ต่างจากปัจจุบันมาก แต่จะเป็นเรื่องซัพพลายที่มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่า และการกำหนดโรดแมปที่ผ่านมา ยังไม่มีเรื่องการพัฒนาแหล่งก๊าซจากการฟื้นฟูการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claims Area: OCA) เข้ามาเป็นปัจจัยในการพิจารณา

 

ที่ผ่านมา Gas Plan ยังไม่นำเรื่อง OCA มาร่วมพิจารณาในการวางแผน แต่เชื่อว่าหาก OCA มีความชัดเจนและดำเนินการเป็นรูปธรรม จะสอดคล้องกับแผนพลังงานชาติในระยะยาว

 

“ก๊าซธรรมชาติ ที่เราอยากได้คือ ราคาไม่สูง ไม่ผันผวน หาก OCA มีความชัดเจน ยิ่งจะช่วยให้เรากำหนดแผนพลังงานในระยะยาวได้”

 

ไทยเป็นประเทศที่ยังต้องนำเข้าพลังงานสุทธิเป็นหลัก และแนวโน้มการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเกือบ 20%

 

“ประเทศไทยใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี หรือเฉลี่ยเพิ่มปีละ 2% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อาจจะมีลด-มีเพิ่ม ตามสถานการณ์ แต่สำหรับประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ”

ขณะเดียวกัน สนพ.ยังพิจารณาถึงแนวทางการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็นคือ

 

1.การใช้ไฟฟ้าช่วง “พีคชิพท์” จากที่ผ่านมาเคยอยู่ช่วงเวลาบ่ายสองโมง แต่หลังจากปี 2566 เปลี่ยนมาอยู่ในช่วง 3-4 ทุ่ม เรียกกว่าเปลี่ยนจากกลางวันมาเป็นกลางคืน

 

2.ประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า EV เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ จึงต้องไปบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้สอดคล้องกัน

 

3.การเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน หรือพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยลดการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลง ซึ่งตอนนี้ตั้งเป้าหมายขยับสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดถึง 51% ในปี 2580

 

สนพ.ต้องวางแผน กำหนดนโยบาย และประเมินสถานการณ์ต่างๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และราคาที่เป็นธรรม

 

“ประเด็นที่ต้องบริหารจัดการ คือการหาก๊าซธรรมชาติราคาต่ำหรือต้นทุนถูก แทนที่ของการนำเข้าก๊าซที่มีราคาแพงได้อย่างไร”

 

นอกจากนี้ ตามแผน Utility Green Tariff การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว(พลังงานสะอาด) การพัฒนาระบบสมาร์ทกริด ที่ต้องบริหารจัดการได้คล่องตัว พร้อมต้นทุนต่ำลง จากการที่มีการซื้อขายได้โดยตรง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเป็นตลาดไฟฟ้าเสรีในอนาคตต่อไป

 

ทั้งนี้ แถลงสถานการณ์ของกรมธุรกิจพลังงานพลังงาน ข้อมูลอัพเดทถึงกันยายน ที่ผ่านมา จะเห็นว่าการใช้น้ำมันสำเร็จรูปของไทยอยู่ที่ 155 ล้านลิตรต่อวัน (ม.ค.-ก.ย 67) เพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

แบ่งเป็นกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วประมาณ 66 ล้านลิตร น้ำมันเบนซิน 31 ล้านลิตร ส่วนน้ำมันเครื่องบิน 15 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 17.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเติบโต จึงช่วยกระตุ้นให้เรื่องของการใช้พลังงานในภาคขนส่งทางอากาศ

ขณะที่แอลพีจี เพิ่ม 3.2% อยู่ที่ 18.7 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนน้ำมันเตาลดลงค่อนข้างเยอะ 13.5% ซึ่งมีแนวโน้มการใช้น้อยลงตามสถานการณ์เรื่องสิ่งแวดล้อม

 

ในส่วนก๊าซธรรมชาติ ช่วงมกราคมถึงสิงหาคม 2567 มีการจัดสรรประมาณ 4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้น 3.2% ในจำนวนนี้มาจากการผลิตในประเทศ 50% และอีก 40-41% นำเข้ามาจากสองแหล่งของพม่า ส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้าในรูปแบบแอลเอ็นจี