นายพรรณธนู วรรณกางซ้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิดตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตรและอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางเกษตรกรรม
รวมถึงการสร้างโอกาสในตลาดใหม่ ตอบสนองความต้องการของตลาดโลก และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของประเทศ ที่เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนทั้งปัญหาหนี้สิ้น รายได้ ค่าครองชีพ รวมทั้งความมั่นคงและปลอดภัยในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนและต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่กระทบความมั่นคงของสังคม เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการแก้หนี้ ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจ
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD ทุเรียนดิจิทัล) ต้องการที่จะส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนทุเรียนประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อจดบันทึกข้อมูลติดตามย้อนกลับการเพาะปลูกทุเรียนมากกว่า 6,000 ราย ภายในระยะเวลาถึง 2 ปี เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเป็น Big Data ด้านการเกษตร โดยเฉพาะทุเรียน
อีกทั้งยังเพิ่มองค์ความรู้ด้าน E-commerce รวมถึงการยื่นขอรับรองมาตรฐานข้อกำหนดของการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) แก่เกษตรกรมากกว่า 12,000 รายในพื้นที่ 23 จังหวัด และสนับสนุนให้เกิดแพลตฟอร์มกลางเพื่อการเกษตร (National Agriculture Platform) ของประเทศ
สำหรับแพลตฟอร์มที่นำมาใช้นั้น ได้รับการพัฒนาโดยดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยที่ผ่านการขึ้นทะเบียนบนบัญชีบริการดิจิทัล และได้รับตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐาน dSURE