วิบากกรรม Temu จากโดนแบนสู่กำเเพงภาษีทรัมป์

14 พ.ย. 2567 | 00:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 09:51 น.

วิบากกรรม Temu อีคอมเมิร์ซจีน ต้องเผชิญหน้ากับการแบนจากหลายประเทศและนโยบายภาษีของทรัมป์ที่อาจส่งผลกระทบครั้งใหญ่

Temu แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีนภายใต้เงาของ PDD Holdings Inc. ขยายตลาดออกไปอย่างรวดเร็ว ถึง 49 ประเทศ ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี เปิดให้บริการในเมืองไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ 29 กรกฎาคม 2567

ประเทศไทยถือ เป็นเป้าหมายที่ 3 ในการขยายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถัดจาก มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศไทยมีการใช้งานสื่อออนไลน์และมีการยอมรับอีคอมเมิร์ซค่อนข้างสูง

การมาของ Temu ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ในวงการอีคอมเมิร์ซ ด้วยกลยุทธ์การตลาด ทั้งการโฆษณาผ่านสื่อทุกแพลตฟอร์ม เสนอสินค้าราคาถูกมาก ตั้งแต่เสื้อผ้า ของใช้ในบ้าน ไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ Temu ยังใช้กลยุทธ์การโฆษณาที่ตรงใจลูกค้าและโปรโมชั่นต่างๆ ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขายและสร้างฐานลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อสินค้ามีราคาต่ำมาก ปัญหาที่ตามมาคือ "คุณภาพ" ที่รับประกันได้ยาก

Temu คู่แข่งสำคัญของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ

Temu กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซในหลายประเทศ กันยายน 2565 การเปิดตัวครั้งแรกในตลาดสหรัฐ มียอดดาวน์โหลดใช้งานขึ้นเป็นอันดับ 1 ในหมวดหมู่แอพพลิเคชันซื้อขายสินค้าออนไลน์ แซงหน้า Amazon ภายในไม่กี่อาทิตย์ และขึ้นแท่นเป็นแอพพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดใช้งานสูงสุดทั้งใน iOS และ Android แซงหน้า TikTok, Facebook และ Instagram

 Amazon เพลี้ยงพล้ำ Temu เนื่องจากการตลาดออนไลน์อย่างหนัก เสนอสินค้าราคาถูก  ยกตัวอย่างเช่น รองเท้าราคา 3 ดอลลาร์ หรือสมาร์ทวอทช์ราคา 15 ดอลลาร์ จนคนในสหรัฐติดใจ 

จน Amazon ต้องปรับตัวขนานใหญ่เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีนอย่าง Temu รวมทั้ง Shein โดยล่าสุดเปิดร้านค้าราคาถูกไปเป็นที่เรียบร้อย โดยสินค้ามีตั้งเเต่ น้ำยาล้างจาน ไหมขัดฟัน ยาสีฟัน 

การ "แบน" แพลตฟอร์ม Temu

ความสำเร็จนี้กลับทำให้อีคอมเมิร์ซจีนรายนี้ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เมื่อประเทศต่างๆ เริ่มเข้ามาจับตามองและตัดสินใจ "แบน" แพลตฟอร์มนี้จากหลายประเด็นทางด้านกฎหมายและความมั่นคง

ฟันไม่ยั้ง Temu อินโดนีเซียแบนTemu

เริ่มจากอินโดนีเซียที่ประกาศแบน โดยขอให้ทาง Google และ Apple บล็อกแอปพลิเคชัน Temu ทั้งใน Google Play Store และ Apple App Store เพื่อไม่ให้สามารถดาวน์โหลดโดยผู้ใช้ในอินโดนีเซียได้ โดยข่าวรอยเตอร์รายงานว่า คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นก่อนที่ Temu จะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในอินโดนีเซีย เนื่องจาก Temu ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนในอินโดนีเซีย ที่สำคัญมีการจำหน่ายสินค้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาด จนอาจส่งผลให้ธุรกิจ SMEs ไม่สามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้รัฐบาลอินโดนีเซียยังเตรียมปิดกั้นการลงทุนทุกรูปแบบของ Temu ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซท้องถิ่น หากทางบริษัทมีแนวคิดดังกล่าว

เวียดนามขู่บล็อก Temu

เวียดนามก็เริ่มส่งสัญญาณในทิศทางเดียวกัน โดยเรียกร้องให้ Temu ต้องจดทะเบียนบริษัทอย่างถูกต้องในประเทศ

รัฐบาลเวียดนามกล่าวว่าจะปิดกั้นโดเมนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของ Temu รวมทั้ง Shein หากไม่จดทะเบียนการดำเนินธุรกิจในประเทศเวียดนามกับกระทรวงพาณิชย์ของเวียดนามภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ 

ปัจจุบันเวียดนามอนุญาตให้สินค้านำเข้ามูลค่าสูงสุด 40 ดอลลาร์ ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทรวงการคลัง กล่าวว่า สินค้าส่วนใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีนี้นำเข้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และกำลังพิจารณาที่จะยุติการลดหย่อนภาษีแล้ว 

การเคลื่อนไหวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของประเทศในภูมิภาคต่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีน

เตรียมเจอภาษีนำเข้า โดนัลด์ ทรัมป์

ความท้าทายครั้งใหญ่กำลังรออยู่เบื้องหน้า เมื่อว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแผนการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ Temu และราคาสินค้าที่จะสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ทรัมป์ กล่าวว่าจะกำหนดอัตราภาษีนำเข้า 10% สำหรับสินค้าที่นำเข้าทั้งหมด และ 60% สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากจีน 

เเต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนกล่าวว่าภาษีที่ทรัมป์เสนอจะทำให้ราคาสินค้าในครัวเรือนสูงขึ้น สถาบัน Peterson Institute for International Economics คาดการณ์ว่าแนวคิดของเขาจะทำให้ครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางต้องเสียเงินเพิ่มปีละ 1,700 ดอลลาร์ ส่วน Center for American Progress Action ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายซ้าย คาดการณ์ว่าแนวคิดนี้อาจทำให้ครอบครัวทั่วไปต้องเสียเงินเพิ่มปีละ 3,900 ดอลลาร์

รัฐบาลของไบเดน-แฮร์ริส ยกเว้นภาษีนำเข้าขั้นต่ำ (de minimis)

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าเตรียมประกาศแผนปิดช่องโหว่ยกเว้นภาษีนำเข้าพัสดุขนาดเล็กจากจีน หรือที่เรียกว่า De Minimis Provision เป็นกฎหมายที่อนุญาตให้สินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์ ไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้า และไม่ต้องถูกตรวจสอบที่ชายแดนเมื่อเข้ามาในสหรัฐฯ

โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จากเดโมแครต เรียกร้องให้โจ ไบเดน ใช้อำนาจบริหารปิดช่องโหว่ทางภาษีในการนำเข้าพัสดุมูลค่าต่ำจากจีน เพราะช่องโหว่ดังกล่าวเอื้อให้บริษัทอีคอมเมิร์ซอย่าง SHEIN และ Temu ได้รับผลประโยชน์โดยตรง

วิบากกรรมของ Temu สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตของตลาดอีคอมเมิร์ซโลกที่การแข่งขันทวีความเข้มข้นขึ้นทุกขณะ แม้ Temu จะสามารถเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยกลยุทธ์ราคาต่ำ แต่การละเลยกฎระเบียบและความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจจะย้อนกลับมาเป็นอุปสรรคการดำเนินธุรกิจ