ชัยชนะจากการคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่ได้รับความนิยมมีผู้ชมประมาณ 4.7 พันล้านคนทั่วโลกของ ของบริษัท บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS โดยมีมูลค่ามหาศาลกว่า 559,980,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 19,167 ล้านบาท ถ่ายทอดสด 3 ประเทศ ไทย-ลาว-กัมพูชา เริ่มฤดูกาล 2025/26 เหนือ King of Sport อย่าง ” เป็นเพิ่งความสำเร็จแค่เพียงยกแรกเท่านั้น
หนทางข้างหน้านั้นยังต้องรอพิสูจน์ฝีมือ JAS ในการบริหารจัดการลิขสิทธิ์ที่ได้มา รวมถึงกลยุทธ์การขยายตลาดให้เป็นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดย JAS ตั้งเป้าสมาชิก 3 ล้านบัญชีในปีแรก จากจำนวนคนทั้งสิ้น 96 ล้านคน โดยมีกลุ่มบริษัทโมโน (MONO) อาทิ MONOMAX และ ช่อง MONO 29 ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ในการทำการตลาดและจัดจำหน่าย
โดยสามารถรับชมได้ผ่านช่องทางหลัก คือ MONOMAX ซึ่งเป็น Streaming platform และ MONO29 ซึ่งเป็น Free-to-air platform ของ MONO NEXT PCL. (“MONO”) และมีแนวทางในการจัดจําหน่ายผ่านทุก Network และ Mobile operators ด้วย ไม่ว่าจะเป็น App Store (IOS), Google Store, TRUE หรือ AIS เพื่อสนับสนุนให้คอนเท้นต์มีการเข้าถึงผู้ชมได้มากที่สุด
สำหรับราคาคาดว่าจะอยู่ราว 400 บาท ต่อเดือน ถูกกว่าค่าบริการปัจจุบัน โดยมีนโยบายราคาเดียว ไม่ว่าจะรับชมผ่านทางช่องทางไหน สำหรับคุณภาพการถ่ายทอดสดภาพคมชัดระดับ Full-HD ด้วยเทคโนโลยีการปรับ Auto bit rate ตามความเร็วของอินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์รับสัญญาณของผู้ชม ทั้งยังสามารถรับชมความละเอียด 4K
หากพิจารณาจากแผนสวยหรูที่ JAS วาดไว้แล้ว คาดว่า JAS จะมีรายได้จากเฉพาะค่าบริการสมาชิก ไม่รวมค่าสปอนเซอร์ ค่าขายสิทธิ์ต่อ ปีแรก 1.4 หมื่นล้านบาท คำถามคือ JAS จะหาสมาชิกได้ 3 ล้านบัญชี ในปีแรกตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ JAS จะมีวิธีดึงกลุ่มผู้รับชมการถ่ายทอดสดตามช่องทางธรรมชาติ อย่างเว็บถ่ายทอดบอลเถื่อน หรือ เว็บพนันออนไลน์ ที่รับชมฟรีมาตลอดมาเป็นสมาชิกอย่างไร หรือ จะมีเทคโนโลยีอะไรมาป้องกัน หรือ จัดการลักลอบดูดสัญญาณภาพไปออกอากาศ รวมไปถึงความมีเสถียรภาพการถ่ายทอดสด ที่ระบบจะต้องไม่ล่ม ไม่สะดุด หรือกระตุก บั่นทอนอรรถรสการรับชมของสมาชิก
เหล่านี้เป็นการบ้านสำคัญ ที่ทีมงาน JAS ต้องกลับไปขบคิด เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับผู้ให้บริการในอดีต อย่าง CTH ที่ประมูลซื้อลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในช่วงปี 2013-2016 โดยวางแผนหารายได้จากการสมัครสมาชิกแบบรายเดือน แพ็คเกจเริ่มต้น 300 บาทต่อเดือน ไปจนถึง 500 บาท แต่มียอดสมาชิกต่ำกว่าเป้าหมาย โดยตั้งเป้าหมายสมาชิกไว้ที่ 1 ล้านราย แต่ทำได้เพียง 200,000 รายเท่านั้น ทำให้รายได้ต่ำกว่าที่คาดหวัง
ขณะที่การลงทุนสูงมาก มีค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกสูงถึง 9,000 ล้านบาท ค่าลงทุนในอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานสูง 10,000 ล้านบาท และยังมีการกู้เงินจากธนาคารเพิ่มอีก 14,000 ล้านบาท ทำให้เกิดภาวะขาดทุนสะสม เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่สูง ในช่วงไม่ถึง 3 ปี CTH ขาดทุนสะสมมากกว่า 4,000 ล้านบาท ในที่สุด CTH ได้ประกาศยุติการให้บริการในวันที่ 1 กันยายน 2559
ทรูวิชั่นส์ เจ้าของสโลแกน King of Sport ได้กลับมาเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกในประเทศไทยอีกครั้งในช่วงปี 2019-2022 โดยสามารถออกอากาศได้ทุกช่องทางทั้งเพย์ทีวี ฟรีทีวี และออนไลน์ รวมถึงผ่านแพลตฟอร์ม OTT เช่น TrueID ซึ่งสามารถรับชมได้ทุกเครือข่ายมือถือ ซึ่งสามารถรับชมได้ทุกที่ทุกเวลา โดยตั้งเป้าการเข้าถึงผู้ชมกว่า 20 ล้านคนในประเทศไทย
โดยแพลตฟอร์ม TrueID - TrueID กลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการขยายการรับชมพรีเมียร์ลีก โดยมีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมากกว่า 15 ล้านราย TrueID มีแพ็คเกจรับชมฤดูกาลเต็ม 2,500 บาท รายเดือน 319 บาท รายสัปดาห์ 179 บาท และรายวัน 99 บาท เพื่อให้เข้าถึงผู้ชมในหลากหลายกลุ่ม
ทรูวิชั่นส์ ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตร 6 บริษัท เช่น ทรู คอร์ปอเรชั่น, สิงห์ คอร์เปเรอชั่น, ซีพี ออลล์, เอ.พี. ฮอนด้า, ซีพีเอฟ และสยามแมคโคร ทำให้มีกิจกรรมทางการตลาดทั้งบนจอและออนไลน์ เพื่อเสริมสร้างการเข้าถึงแฟนฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
อย่างไรก็ตามปัญหาที่ ทรูวิชั่นส์ ประสบมาตลอด คือ จัดการกับลิงค์เถื่อน ที่ลักลอบดูสัญญาณไปถ่ายทอดสดได้ ขณะที่การขายแพ็กเกจรับชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาลปัจจุบัน (2024-25) ราคาเพิ่มจากฤดูจาก 2,900 บาทเป็น 5,900 บาท จนถูกดราม่าหนักจากลูกค้า ซึ่ง ทรูวิชั่นส์ ออกมาให้เหตุผลว่าราคาลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม 1 เดือนหลังฤดูกาลเริ่มต้น ราคาแพ็กเกจสำหรับการรับชมทั้งฤดูกาลลดลงมาเหลือเพียง 3,900 บาท สะท้อนถึงปัญหายอดขาย และจำนวนผู้ใช้บริการที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ท้ายสุด ทรูวิชั่นส์ เข้าร่วมประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ฤดูกาล 2025-2028 แต่ไม่สามารถสู้ราคากับ JAS ที่เป็นผู้ชนะประมูลคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมาได้ โดย ทรูวิชั่นส์ ออกมายอมรับว่าได้ยื่นข้อเสนอแข่งขันไปในราคาที่เหมาะสม แต่เนื่องจากมีผู้ร่วมประมูลรายอื่นเสนอราคาสูงกว่าจึงได้รับสิทธิ์การถ่ายทอดสำหรับฤดูกาลหน้าไป
อย่างไรก็ตามในมุมมองนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ มองกลุ่มทรู มีวินัยทางการเงินที่เพิ่มขึ้นหลังการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE-DTAC และคาดว่าจะสร้างให้เกิดกำไรในอนาคต