หลังจากที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง กล่าวถึงสถานการณ์หนี้สาธารณะไทย ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 65-66%ต่อจีดีพี มูลหนี้ใกล้แตะ 12 ล้านล้านบาท ซึ่งวางกรอบไว้ต้องไม่เกิน 70%ต่อจีดีพี หรือ 15 ล้านล้านบาท นั่นหมายถึง พื้นที่ทางการคลังน้อยลง มีพื้นที่เพียง 3-4% หรือคิดเป็น 3 ล้านล้านบาทนั้น
คงมีข้อสงสัยกันว่า พื้นที่การคลัง หรือ fiscal space ที่เหลืออยู่ 3 ล้านล้านบาท ประเทศเข้าสู่ขั้นวิกฤตแล้วหรือยัง “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลมาสรุป ดังนี้
พื้นที่การคลัง เป็นพื้นที่ในงบประมาณของรัฐบาล ที่ช่วยให้รัฐบาลสามารถจัดสรรทรัพยากรเพื่อจุดประสงค์ที่ต้องการได้ โดยไม่กระทบต่อความยั่งยืนของสถานะทางการเงิน หรือเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลงบประมาณ โดยวางเป้าหมายระยะยาวจะกลับเข้ามาสู่จุดสมดุล ตามแผนการคลังระยะปานกลาง
โดยในการกำหนดพื้นที่การคลัง จะอยู่ภายใต้กรอบเพดานหนี้สาธารณะที่รัฐกำหนดไว้ ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งปัจจุบันกรอบเพดานหนี้กำหนดไว้ไม่เกิน 70%ต่อจีดีพี
การกำหนดพื้นที่การคลัง จะทำให้รัฐไม่ก่อหนี้เกินตัว เพื่อให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศมีเสถียรภาพ มั่นคงอย่างยั่งยืน ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดเรื่องกรอบต่างๆ อาทิ
ทั้งนี้ การบริหารพื้นที่การคลังอย่างมีเสถียรภาพ จะเป็นผลดีกับเครดิตประเทศ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติด้วย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยใช้งบประมาณขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จีดีพีไม่เติบโตขึ้น ถือเป็นความท้าทายต่อรัฐบาลที่จะทำให้งบประมาณกลับเข้าสู่จุดสมดุล
ข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รายงานข้อมูลหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 ก.ย.67 สุดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 63.28% มูลหนี้รวม 11.62 ล้านล้านบาท โดยองค์ประกอบของหนี้ แบ่งเป็น
ก่อนหน้านี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง กล่าวว่า “พื้นที่ทางการคลังที่เหลืออยู่ 3-4% ส่งผลให้รัฐสามารถก่อหนี้ใหม่ได้อีก 3 ล้านล้านบาท เฉลี่ย 4 ปี รัฐบาลสามารถกู้ชดเชยขาดดุลได้ปีละไม่เกิน 7.5 แสนล้านบาท”
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ทางการคลัง ที่เหลืออยู่ 3 ล้านล้านบาท ถือเป็นกระเป๋าใบที่ 1 ของรัฐบาล นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีกระเป๋าอีกหลายใบ อาทิ กระเป๋าจากการใช้นโยบายกึ่งการคลัง มาตรา 28 ตามพ.ร.บ.วินัยการคลังการคลัง และการใช้กระเป๋าที่เป็นเงินกู้ต่างประเทศ เป็นต้น
ทั้งนี้ ทุกปีงบประมาณ รัฐได้ตั้งงบชำระหนี้คืนทุกปี เช่น ในปีงบประมาณ 2567 สบน. ได้รับจัดสรรงบประมาณชำระหนี้เงินต้นแก่รัฐบาลเพิ่มจากเฉลี่ยประมาณ 2.5% เป็น 3.4% ของงบประมาณรายจ่าย ส่วนดอกเบี้ยชำระ 100% ฉะนั้น ในการก่อหนี้รัฐบาล ก็มีการชำระคืนอย่างต่อเนื่อง
หากเปรียบเทียบกับกระเป๋าสตางค์เรา ก็เหมือนการหมุนเงินไปเรื่อยๆ มีรายได้ ก็นำไปชำระหนี้ แล้วก่อหนี้ใหม่ เป็นต้น
สุดท้ายแล้ว หากถามว่าพื้นที่ทางการคลังที่เหลืออยู่ 3 ล้านล้านบาท ประเทศเข้าสู่ขั้นวิกฤตหรือยังนั้น ก็ยังถือว่าไม่ถึงขั้นวิกฤต เนื่องจากภาระหนี้โดยรวมยังอยู่ในกรอบวินัยการคลัง ขณะที่หนี้สาธารณะ ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นการก่อหนี้ระยะยาว และสัดส่วนหนี้ที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศก็มีจำนวนไม่มาก