“พิชัย” ลั่นเหลือพื้นที่การคลัง 3 ล้านล้าน มุ่งรัดเข็มขัด ปั๊มจีดีพีเพิ่ม

13 พ.ย. 2567 | 06:07 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2567 | 06:07 น.

“พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯ และรมว.คลัง ชี้ไทยขาดการลงทุนต่อเนื่อง กระทบหนี้ครัวเรือนพุ่ง ลั่นรัฐเหลือพื้นที่การคลังจำกัด 3 ล้านล้าน เตรียมรัดเข็มขัด วางเป้า 4 ปี กู้ขาดดุลไม่เกินปีละ 7.5 แสนล้านบาท พร้อมฉายแผนดันเศรษฐกิจโต

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สถานะของประเทศไทย ขาดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มามากกว่า 20 ปีแล้ว โดยมีเม็ดเงินลงทุนแค่กว่า 20% ของจีดีพี ซึ่งภาวะการลงทุนต่ำไม่ใช่เพราะไทยไม่มีเงิน แต่เป็นเพราะจีดีพีไทยโตต่ำ โดยเฉลี่ย 10 ปี จีดีพีแค่ 1.9% ต่อปีเท่านั้น ส่วนปี 67 คาดว่าจีดีพีจะโต 2.7% ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีนี้คาดไม่ถึง 1%

ทั้งนี้ ผลตามมาจากการลงทุนต่ำ ทำให้มีการจ้างงานน้อย ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้บ้าน และรถยนต์ นอกจากนั้น ยังมีผลต่อเอสเอ็มอี เนื่องจากเป็นซัพพลายเชนจากการลงทุนใหญ่ ส่งผลให้ทั้ง 2 ภาคส่วนเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้ รัฐบาลก็ควักเงินจากงบประมาณเข้าไปอุดหนุน ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งทำให้หนี้สาธารณะของรัฐปรับเพิ่มขึ้น

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง

นายพิชัย กล่าวว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หนี้สาธารณะอยู่ที่ 48% คิดเป็นมูลหนี้ 5 ล้านล้านบาท แต่ตอนนี้จีดีพีใกล้แตะ 19 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 65-66%ต่อจีดีพี มูลหนี้ใกล้แตะ 12 ล้านล้านบาท ซึ่งวางกรอบไว้ต้องไม่เกิน 70%ต่อจีดีพี นั่นหมายถึง พื้นที่ทางการคลังน้อยลง มีพื้นที่เพียง 3-4% หรือคิดเป็น 3 ล้านล้านบาท โดยการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังจะเกิดขึ้นได้ รัฐบาลจะต้องรัดเข็มขัด และการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ

“เมื่อพื้นที่ทางการคลังน้อย โอกาสในการสร้างหนี้ก็ลดลง วันนี้หนี้สาธารณะใกล้แตะ 12 ล้านล้านบาท ส่วนการเติบโตของจีดีพีปีนี้ คาดว่าจะได้ 2.7% ขณะที่เงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 0.7-0.8% ดังนั้น คาดว่าปลายปีนี้หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 65-67% แสดงว่าเราจะเหลือพื้นที่ทางการคลัง 3-4% ส่งผลให้รัฐสามารถก่อหนี้ใหม่ได้อีก 3 ล้านล้านบาท เฉลี่ย 4 ปี รัฐบาลสามารถกู้ชดเชยขาดดุลได้ปีละไม่เกิน 7.5 แสนล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3% ภาครัฐ และเอกชนจะต้องทำงานร่วมกัน ซึ่งในปี 68 ประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3% แต่เราอยากจะเห็นการขยายตัวได้ 3.5% ซึ่งการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจนโยบายการคลัง ต้องสัมพันธ์กับเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเราอาจจะกลัวเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในสมัยต้มยำกุ้ง แต่หากเราไม่สู้ก็อยู่ไม่ได้

ทั้งนี้ เรื่องที่รัฐบาลจะเข้าไปดูแลเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว และส่งเสริมการลงทุนนั้น ได้แก่

1.แก้ปัญหาเรื่องพลังงานราคาสูงของไทย คือ การเป็นเจ้าของพลังงาน เพื่อลดการนำเข้า ก๊าซธรรมชาติ ที่สูงถึง 90% ของที่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศ ด้วยการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claims Area : OCA) ให้สำเร็จ ซึ่งจะทำให้ไทยมีพลังงานเป็นของตนเอง ใช้ได้ยาว 20 ปี ก่อนที่จะเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานสีเขียว

2. การเดินหน้า เเลนด์บริดจ์ (LandBridge) ซึ่งไม่ใช่แค่เชื่อมทะเลอ่าวไทยไปทะเลอันดามัน อันนี้ยังเล็กไป ไทยอาจจะต้องดูความต้อง เช่นจีน ไป เอเชียกลาง-แอฟริกา เป็นต้น

3.ระบบการจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำทะเลหนุน 

4.การลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าโดยสารของขนส่งสาธารณะ โดยใช้เงินกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ในการอุดหนุน 

5. การกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นภาคส่วนที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมาก

“เรื่องที่กล่าวไปข้างต้นนี้ ถูกบรรจุไว้ในการใช้งบประมาณของชาติแล้ว สุดท้ายนี้ ไทยยังมีจุดอ่อน คือ กระบวนการทำงานแบบระบบราชการ  ทำให้ทำงานได้ล่าช้า ฉะนั้น จะต้องมีการปรับตัว และหันมาใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น”