นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า บีโอไอเตรียมดำเนินการร่วมผู้แทนภาคเอกชนทำกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนที่นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะพบหารือกับนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และยกระดับความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน
รวมถึงร่วมมือกับองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของจีน (China Council for the Promotion of International Trade: CCPIT) และ Bank of China จัดงานสัมมนาใหญ่ Thailand – China Investment Forum 2024 เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับการลงทุนจากจีน
ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนจีนให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานสัมมนากว่า 500 คน จากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน แบตเตอรี่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ดิจิทัล เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์โลหะและวัสดุ เป็นต้น
สำหรับในงานสัมมนาจะนำเสนอศักยภาพและโอกาสการลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งสิทธิประโยชน์และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ จะมีผู้บริหารจากภาคเอกชนร่วมบรรยายถ่ายทอดประสบการณ์และความสำเร็จของการทำธุรกิจในประเทศไทย เช่น Bank of China ,บริษัท Haier ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะรายใหญ่ มีการลงทุนในไทยรวมกว่า 16,000 ล้านบาท ,บริษัท Westwell Technology ผู้นำด้าน AI และ Digital Green Logistics
โดยได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ยกระดับธุรกิจ เช่น การพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะในประเทศไทย อีกทั้งมีผู้แทนภาคเอกชนไปร่วมออกบูธให้ข้อมูลด้านการลงทุนและโอกาสการร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทไทย ประกอบด้วยกลุ่มธนาคาร เช่น ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เช่น นิคม WHA, TRA, TFD, เอส, โรจนะ และนิคม 304
นอกจากนี้ จะมีการหารือกับนักลงทุนของจีนเป็นรายบริษัท เพื่อเจรจาแผนการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน โดยเน้นการผลิตแบตเตอรี่ในระดับเซลล์ ธุรกิจบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้วเพื่อเตรียมรองรับปริมาณแบตเตอรี่ใช้แล้วที่จะเริ่มเข้าสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงและอุปกรณ์โทรคมนาคม การผลิตบรรจุภัณฑ์ชีวภาพจากวัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศไทย เป็นต้น
“ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นฐานการผลิตหลักของจีนในภูมิภาคอาเซียน โดยในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีคลื่นการลงทุนลูกใหม่จากประเทศจีนเข้ามาสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อย่างการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) กิจการ Data Center และ Cloud Service"
สำหรับการดำเนินการดังกล่าว จะเน้นดึงการลงทุนในกลุ่มแบตเตอรี่และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับซัพพลายเชน และต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้เข้ามาลงทุนแล้ว โดยจะชวนให้นักลงทุนจีนพิจารณาการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทย รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากผู้ผลิตในประเทศด้วย
ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีโครงการจากจีนยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 416 โครงการ เงินลงทุน 158,121 ล้านบาท สูงเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ในขณะที่ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – กันยายน 2567) จีนขอรับส่งเสริมการลงทุน จำนวน 554 โครงการ เงินลงทุน 114,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์โลหะและวัสดุเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์