สศช. ประเมินลึกนโยบายรัฐบาล “โดนัลด์ ทรัมป์” เขย่าเศรษฐกิจไทยหนัก

18 พ.ย. 2567 | 06:26 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 09:49 น.

เลขาฯ สศช. ประเมินผลกระทบนโยบายประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นรัฐบาล แนะทุกหน่วยงานเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด หวั่นกระทบเศรษฐกิจไทยหนัก หลังเช็คข้อมูลเดิมสมัยแรกทรัมป์ทำเศรษฐกิจชะลอตัว

วันนี้ (18 สิงหาคม 2567) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 และปี 2568 ว่า ความเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดในตอนนี้ นั่นคือ ความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะเรื่องการกีดกันทางการค้า และความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งเกี่ยวกับการสู้รบที่ยังยังไม่เบาบางลง

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 

ทั้งนี้จากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ โดยเฉพาะเรื่องการกีดกันทางการค้า ซึ่งจากการเก็บข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ตลอดระยะเวลาที่โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ สมัยแรก ปี 2560 มีมาตรการออกมาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 จนถึงปี 2561 ขณะที่จีนก็มีการออกมาตรการตอบโต้สหรัฐเช่นกัน 

นายดนุชา กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาแนวทางการรองรับผลกระทบกับประเทศไทยหากสหรัฐและจีนออกมาตรการกีดกันทางการค้าอีกครั้งนั้น เห็นว่ามี 2 เรื่องที่ต้องติดตาม คือ การติดตามความรุนแรงของมาตรการต่าง ๆ ที่จะออกมาว่าจะครอบคลุมด้านใดบ้าง อีกเรื่องคือต้องดูระยะเวลาว่าจะออกมาช่วงใด ก่อนหาทางรับมือต่อไป

"จากข้อมูลที่มีในสมัยที่สองของประธานาธิบดีทรัมป์ ก็อาจแตกต่างกับสมัยแรก โดยภาคการส่งออกของไทยในช่วงต้นน่าจะส่งออกได้อยู่ในไตรมาสแรกต่อเนื่องถึงไตรมาสที่สอง แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของมาตรการที่จะออกมา เพราะเรื่องนี้จะสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนด้วย โดยภาคเอกชนที่นำเข้าและส่งออกสินค้าต้องมีเครื่องมือทางการเงินเข้ามาบริหารจัดการด้วย" นายดนุชา กล่าว

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาข้อมูลด้านการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจในช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีในสมัยแรก จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2562 จะเริ่มชะลอตัวลง เช่นเดียวกับการส่งออกที่ได้รับผลกระทบ โดยทุกหน่วยงานต้องติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และรวบรวมข้อมูลต่าง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นต่อไป

 

สศช. ประเมินลึกนโยบายรัฐบาล “โดนัลด์ ทรัมป์” เขย่าเศรษฐกิจไทยหนัก

 

ขณะเดียวกันในประเด็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปแน่นอน ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมัน รวมไปถึงการเฝ้าระวังเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้ 

สำหรับข้อเสนอแนวนโยบายของรัฐบาลสหรัฐ ในเบื้องต้นมีรายละเอียดที่ต้องติดตามอยกเป็นเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

การค้าระหว่างประเทศ : การปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าทุกประเภท โดยสินค้าจากประเทศจีนอาจมีการเก็บภาษีในอัตรา 60% และ 10-20% สำหรับประเทศอื่น ๆ และการยกเลิกหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favoured Nation Treatment : MFN) ที่ให้กับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน และการถอนตัวจากการกรอบความร่วมมือ Indo-Pacific Economic Framework (IPEF)

แรงงานผู้อพยพ : การเพิ่มความเข้มงวดในการจ้างงานชาวต่างชาติด้วยวีซ่า H-1B รวมถึงการบังคับให้นายจ้างมีการยืนยันสถานะทางการกฎหมาย ของลูกจ้าง และการเข้มงวดกับการจ้างแรงงานผิดกฎหมาย และการงดการให้สิทธิการเป็นสัญชาติอเมริกันสำหรับเด็กที่เกิดในประเทศ แต่บุพการีไม่มีใบแจ้งการอพยพถิ่นฐาน 

ภาษี : การบังคับใช้มาตรการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล (Tax Cuts and Jobs Act: TCJA) เป็นการถาวร หลังจากที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2560 และมีกำหนดสิ้นสุดในปี 2568 รวมทั้งการปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 20-21% เป็น 15% สำหรับประเทศที่มีการผลิตภายในประเทศ

สิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด : การสนับสนุนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดเงินลงทุนภายใต้กฎหมาย Inflation Reduction Act การยกเลิกเครดิต ภาษีคาร์บอนและเงินสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การผ่อนคลายมาตรการควบคุมด้านมลพิษ และการถอนตัวการเป็นสมาชิกของความตกลงปารีส (Paris Agreement)

การเมืองระหว่างประเทศ : ลดการมีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งระหว่างประเทศ และมีจุดยืนที่ไม่สนับสนุน NATO และการยกเลิกความช่วยเหลือแก่ยูเครนแต่ยังให้การสนับสนุนอิสราเอล รวมถึงการเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการกีดกันทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน