วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2567) เวลา 9.30 น. นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567-2568 ว่า ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทย ขยายตัว 3% เร่งตัวขึ้นจาก 2.2% ในไตรมาสก่อนหน้า รวม 9 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3%
ทั้งนี้มีปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคนอกเกษตรที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามการขยายตัวของกลุ่มบริการ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตชะลอตัวและภาคการเกษตรปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและบริการ การอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล และการลงทุนเร่งขึ้น ขณะที่การอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอตัว
สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.02% ต่ำกว่า 1.07% ในไตรมาสก่อนแต่สูงกว่า 0.99% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6%
ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.0 พันล้านดอลลาร์(198.5 พันล้านบาท) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ 243.0 พันล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่าทั้งสิ้น 11.63 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.3% ของ GDP
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2567 สศช. ประเมินว่าจะขยายตัว 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจาก 1.9% ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 2.5% ของ GDP
นอกจากนี้สศช. ยังประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 2.3 – 3.3% (ค่ากลางของการประมาณการอยู่ที่ 2.8%) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
ทั้งนี้ คาดว่า ในปี 2568 การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 3% และ 2.8% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.3 – 1.3% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6% ของ GDP