นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้ร่วมลงพื้นที่ ณ สะพานทศมราชัน
ทั้งนี้ได้ประชุมเตรียมความพร้อมการรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จฯ ไปทรงเปิดสะพานทศมราชัน ทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ในวันที่ 14 ธันวาคม 2567
ขณะเดียวกันมีพลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ฯ เป็นประธาน พร้อมด้วย นายชาตรี ตันศิริ นางชินนาฏ คุณเจริญ รองผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และประชุมเตรียมการรับเสด็จฯ
สำหรับ “สะพานทศมราชัน” เป็นสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ในเส้นทางของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก
ด้านการก่อสร้าง มีรูปแบบโครงสร้างเป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง มีช่องทางสำหรับรถบรรทุก 1 ช่องจราจรต่อทิศทาง ความยาวสะพาน 781.20 เมตร
ส่วนการออกแบบงานสถาปัตยกรรมเป็นการรวบรวมข้อมูลจากพระราชประวัติ คติความเชื่อ ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี นำมาเป็นแรงบันดาลใจในการกำหนดแนวคิดออกแบบผลงานเพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้
1.ส่วนยอดของเสาสะพาน หมายถึง ฝ้าพระหัตถ์ของพระองค์
2.สายเคเบิล (CABLE) เป็นสีเหลืองสื่อถึงวันพระราชสมภพของพระองค์ คือ วันจันทร์
3.พญานาค ราศีประจำปีพระราชสมภพของพระองค์ คือ ปีมะโรง (พญานาค)
4.รั้วสะพานกันกระโดด ออกแบบสื่อให้เป็นต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำพระองค์
5.ราวกันตกริมด้านนอกสุดของระพาน ออกแบบให้ดูโปร่งใสโดยใช้วัสดุ Stainless
นอกจากนี้ในการพระราชทานชื่อสะพาน สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ขอให้ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ้าละองธุลีพระบาทต่อไปแล้ว
ขณะนี้ได้รับแจ้งจากสำนักพระระราชวังว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสะพานดังกล่าวว่า “สะพานทศมราชัน” และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ประดิษฐาน ณ สะพานทศมราชัน