นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ได้ดำเนินการสั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เป็นศูนย์กลางการบริการทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ รวมทั้งมีศูนย์บริการที่สำคัญเพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการ เตรียมการรองรับปัญหาอุทกภัยด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันภัยพิบัติให้เป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
รวมถึงพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพอย่างยั่งยืน และได้ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ด้านอาหารและด้านแฟชั่น ด้วยการสร้างและพัฒนา Thailand Soft Power DNA ผ่าน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.สร้างสรรค์และต่อยอด ,2.โน้มน้าว และ3.เผยแพร่ ส่งต่อประสบการณ์ใหม่ผ่านมุมมองที่สัมผัสได้สไตล์ Local LANNA
ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่ไม่อาจคาดเดา มีความซับซ้อน และไม่ชัดเจนตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพแต่กลับมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรไม่มากนักจึงเหมาะกับเกษตรประณีตหรือเกษตรอินทรีย์ที่ใช้พื้นที่ และน้ำน้อยแต่ผลตอบแทนสูงซึ่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นและสามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่
ดังนั้น จึงได้ดีพร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น เช่น สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น (Crop) อาหารพื้นถิ่น (Food) หัตถกรรมพื้นบ้าน (Craft) สมุนไพรประจำถิ่น (Herb) และวัสดุพื้นถิ่น (Material) ด้วยการประยุกต์ ใช้ทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา นวัตกรรม และเทคโนโลยีสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่สร้างโอกาสทางการตลาดและพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต
สร้างภาพลักษณ์และการรับรู้ผ่านการสร้างแบรนด์และนำเสนอเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับแหล่งผลิต ตลอดจนขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ทั้งการท่องเที่ยวเชิงอาหาร การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ชุมชนสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองและเป็นการกระจายรายได้ไปยังเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยอย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภูมิภาค (Local Economy) ได้อย่างยั่งยืน
นายเอกนัฏ กล่าวอีกว่า โกโก้ เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่อีกหนึ่งชนิดที่น่าสนใจของภาคเหนือ ที่สามารถผลักดันและเชื่อมโยงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้แบรนด์ชั้นนำของไทยสู่ตลาดสากลได้ รวมถึงการพัฒนาและยกระดับการแปรรูปโกโก้สู่การเป็นอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ด้วยการนำทุกส่วนของโกโก้มาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสู่การเป็นสินค้าพรีเมี่ยม เช่น โกโก้ผง เนยโกโก้ ช็อกโกแลต
โดยการใช้อุตสาหกรรมนำเช่นเดียวกับกรณีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ผ่านแนวทางการเติมศักยภาพยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโกโก้ ชา หรือกาแฟ ให้มีขีดความสามารถการแข่งขันระดับเวทีโลก เพื่อดึงให้เกิดการเพาะปลูกและผลิตสินค้าเกษตรของพื้นที่ที่มีคุณภาพพร้อมมีตลาดรองรับ ภายใต้หลักการตลาดนำที่สามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจต่าง ๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม รีสอร์ท และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งนับได้ว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจนตลอดทั้งห่วงโซ่
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีดีพร้อม กล่าวว่า ดีพร้อมได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นองค์กรนำวิสาหกิจภาคเหนือตอนบนสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีการดำเนินการทั้งในด้านวิชาการ คิดค้นรูปแบบ หลักสูตรเพื่อสร้างต้นแบบการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เป็นศูนย์กลางการบริการทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำ การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ และในด้านการปฏิบัติ ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจให้มีขีดความสามารถสอดคล้องกับความต้องการและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ
ประกอบกับรัฐบาลได้กำหนดพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง เป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor: NEC – Creative LANNA เพื่อพัฒนาเป็นพื้นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ของรัฐบาลที่มุ่งสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ของประเทศในการยกระดับและพัฒนาความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยให้สามารถสร้างมูลค่าและรายได้
ซึ่งดีพร้อมได้ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารและด้านแฟชั่น ด้วยการสร้างและพัฒนา Thailand Soft Power DNA ผ่าน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.สร้างสรรค์และต่อยอด ,2.โน้มน้าว และ3.เผยแพร่ ซึ่งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ได้ชูเรื่องการพัฒนาอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่ซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร โดยการสร้างสรรค์วัตถุดิบล้านนาสู่สินค้ามูลค่าสูง วัตถุดิบ Local สู่ทางเลือกสุขภาพ สมุนไพร Local สู่สารสกัดเลอค่า
และ Hyper Local Taste รสชาติท้องถิ่นที่กินสะดวก โน้มน้าวให้มาสัมผัสวิถีล้านนา และเผยแพร่ผ่าน Influencer ส่งต่อประสบการณ์ใหม่ผ่านมุมมองที่สัมผัสได้สไตล์ Local LANNA
“การขับเคลื่อนการพัฒนาในเชิงพื้นที่ จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบและกลไกการทำงานที่สามารถจัดการกับประเด็นปัญหาหรือความต้องการของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ด้วยการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและผู้ประกอบการร่วมกัน ด้วยการเชื่อมโยงกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน SME และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับศักยภาพและสร้างโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยในภาพรวม”