"ทรัมป์ 2.0-สงครามการค้า" พ่นพิษ ฉุดส่งออกไทยชะลอปี 68

02 ธ.ค. 2567 | 08:13 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 09:43 น.

"ทรัมป์ 2.0-สงครามการค้า" พ่นพิษ ฉุดส่งออกไทยชะลอปี 68 ชี้การขยายตัวจะอ่อนแอลงสู่ระดับ 2-3% จากปริมาณการค้าและเศรษฐกิจโลกหดตัว รวมทั้งผลการกีดกันการค้า และการตอบโต้กันด้วยกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐฯกับคู่ค้า

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า  ส่งออกไทยปีหน้าชะลอตัวจากสงครามการค้าอย่างแน่นอนโดยเฉพาะจากนโยบายกีดกันทางการค้า ทรัมป์ 2.0 อัตราการขยายตัวของการส่งออกจะเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปีนี้และมีโอกาสที่อัตราการขยายตัวการส่งออกแตะระดับ 4% ในปีนี้

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งนำเข้าก่อนการขึ้นกำแพงภาษี การเร่งการนำเข้าของผู้นำเข้าในสหรัฐฯในระยะนี้จะส่งผลต่อมูลค่าส่งออกโดยรวมของไทยช่วงปลายปีเพิ่มขึ้นได้จากสัดส่วนส่งออกไปตลาดสหรัฐฯคิดเป็น 25-26% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวส่งออกปีหน้าจะอ่อนแอลงสู่ระดับ 2-3% จากปริมาณการค้าและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง รวมทั้งผลของการกีดกันทางการค้าและการตอบโต้กันด้วยกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐอเมริการกับประเทศคู่ค้า ไทยเป็นกลุ่มประเทศที่เกินดุลการค้าจากสหรัฐฯในระดับสูงช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ไทยเกินดุลสหรัฐฯประมาณ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกินดุลการค้าสหรัฐฯสูงสุดในอันดับ 9 
 

ส่งออกจากไทยอาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นอัตราภาษี 10% ในปี พ.ศ. 2568 การขึ้นกำแพงภาษีสินค้าต่อไทยอาจสูงขึ้นอีกจาก 10% ซึ่งเป็นขั้นเริ่มต้น ขึ้นไปจนกว่าจะถึงจุดสมดุลการค้ากับประเทศไทย ซึ่งอาจเป็น 12-15% ก็ได้ หากยังไม่มีการปรับกำแพงภาษีใดๆในปี พ.ศ. 2568 จะทำให้เกิดภาวะเร่งการนำเข้าสินค้านำเข้าจากไทย จะทำให้

อัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ จากการประเมินของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่า ถ้าสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย 10% และขึ้นภาษีนำเข้า 60% จากจีนในปี 2568 จะทำให้อัตราการขยายตัวส่งออกไทยปีหน้าอยู่ที่ 1.24% ถ้าสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจากไทย 15% และขึ้นภาษีนำเข้า 60% จากจีนในปีหน้าจะทำให้อัตราการขยายตัวส่งออกไทยอยู่ที่ 0.72% ในปี 2568 อัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกที่ต่ำกว่า 1% ย่อมสร้างแรงกดดันต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของสินค้าเกษตรและอาหารที่มีสัดส่วนวัตถุดิบภายในประเทศสูงที่ยังดีขึ้นต่อเนื่องทำให้มูลค่าส่งออกโดยรวมจะต่ำลงแต่โครงสร้างกระจายตัวของรายได้และผลประโยชน์จากการส่งออกยังตกกับคนในประเทศในสัดส่วนสูง หากไม่มีการขึ้นภาษีนำเข้าใดๆของสหรัฐฯในปีหน้าจะทำให้อัตราการขยายตัวของภาคส่งออกอยู่ที่ระดับ 2.8% ตามการคาดการณ์ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
 

แม้ภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าแต่คาดว่าภาคการลงทุนและภาคการท่องเที่ยวจะช่วยประคับประคองไม่ให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่า 2.5% ได้ในปี พ.ศ. 2568 

ส่วนภาคการบริโภคอาจได้รับการกระตุ้นจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการแจกเงินในระยะต่อไปแต่จะส่งผลบวกระยะสั้นตราบเท่าที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะยังอยู่ในระดับสูงกว่า 75% และการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะลดลงต่อเนื่องในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2567 แต่ลดลงจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนขยายตัวต่ำเป็นประวัติการณ์และสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่ออย่างมาก ทางการต้องเพิ่มสวัสดิการ ลดค่าครองชีพ จัดฝึกอบรมเพิ่มทักษะการทำงานให้กับกลุ่มรายได้น้อย 

นอกจากนี้ต้องดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก เพิ่มรายได้ หาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จากผลสำรวจหนี้ครัวเรือนในปีนี้ของ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า หนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนโดยรวมอยู่ที่ 606,378 บาทต่อครัวเรือน คิดเป็นสินเชื่อในระบบ 69.9% นอกระบบ 30.1% มีภาระผ่อนชำระรายเดือนโดยเฉลี่ยครัวเรือนละ 18,787.38 บาท การกู้ยืมเงินส่วนใหญ่อันดับแรกนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (เพื่ออุปโภคบริโภค) 24.3% ใช้จ่ายบัตรเครดิต 20.7% ใช้หนี้เก่า 18.6% ส่วนที่กู้ยืมเพื่อประกอบธุรกิจเพียงแค่ 11.7% ที่อยู่อาศัย 9.9% ยานพาหนะ 6.8% การศึกษา 3.4% รักษาพยาบาล 2.6%

กระบวนการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพี (Debt Deleveraging) เป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยลดความเปราะบางทางการเงินให้แก่ภาคครัวเรือนท่ามกลางความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจภายนอกและภายในประเทศ การลงทุนสร้างงาน สร้างรายได้จะมีประสิทธิภาพสูงกว่า ยั่งยืนกว่า การกระตุ้นการบริโภคหรือการพักหนี้ ใน กระบวนการ Debt Deleveraging มาตรการต้องมุ่งไปที่กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเปราะบาง กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง ต้องออกแบบมาตรการให้ครอบคลุมและตอบโจทย์ลูกหนี้ที่มีลักษณะปัญหาต่างๆกัน