ขึ้นภาษี VAT เกิน 7% โจทย์วัดใจรัฐบาล "ดร.สมชาย" ชี้ต้องดูบริบท ศก.-การเมือง

03 ธ.ค. 2567 | 08:12 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2567 | 09:46 น.

ขึ้นภาษี VAT เกิน 7% โจทย์วัดใจรัฐบาล "ดร.สมชาย" ชี้ต้องดูบริบทเศรษฐกิจ-การเมือง ระบุประเทศไทยเก็บต่ำกว่าประเทศอื่น เหตุไม่ต้องการสร้างแรงกดดันจากราคาสินค้า ขณะที่เศรษฐกิจก็ขยายตัวต่ำเฉลี่ยแค่ 2.6% ตลอดระยะเวลา 10 ปี

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" กรณีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวคิดจะปรับขึ้นภาษีบริโภค หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากระดับ 7% ว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลจะจริงจังขนาดไหน หรืออาจจะเป็นแค่การโยนหินถามทาง 

ทั้งนี้ เนื่องจากในความเป็นจริงเรื่องการจัดเก็บภาษี VAT ของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นถือว่าค่อนข้างต่ำ เพราะไม่ต้องการสร้างแรงกดดันจากราคาสินค้า และมีเรื่องของเศรษฐกิจที่ขยายตัวตกต่ำ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยแค่ 2.6% ถือว่าต่ำมาก 

อีกทั้งยังมีหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในอาเซียน ปัจจุบันอยู่ที่ 89% ต่อจีดีพี แม้จะลดลงบ้าง แต่ก็มีสาเหตุมาจากการที่สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อมาก และจีดีพี (GDP) ไม่เพิ่มขึ้น
 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลเองก็เจอกับปัญหา ซึ่งหากเปรียบเป็นน้ำ เวลานี้เศรษฐกิจก็ขยายตัวต่ำมาตลอด ส่งผลกระทบติดต่อกัน โดยน้ำหรือทรัพยากรทางการเงินก็มีอย่างจำกัด จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การเก็บภาษีจึงอยู่ในขอบเขตที่จำกัดตามไปด้วย ดังนั้น จำนวนภาษีที่เก็บซึ่งเก็บตามจีดีพีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นจึงยังอยู่ในลักษณะที่ต่ำ

ขณะที่ในแง่ของงบประมาณ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เรียกว่าน้ำในเขื่อนหายไป ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าหนี้สาธารณะปัจจุบัน อยู่ที่ระดับกว่า 63% ต่อจีดีพี ส่วนปี 2568 อาจจะขยายตัวไปถึง 65% ซึ่งในความเป็นจริงควรอยู่ที่ประมาณ 60% 

ด้านการขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 4.5% ซึ่งสูงที่สุดในรอบกว่า 40 ปี อีกทั้งหากดูจากโครงสร้างบประมาณจะเห็นว่า งบประจำเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ส่วนงบลงทุนลดลงอยู่ที่ 20% โดยถือว่าต่ำมาก เพราะประเทศทั่วไปงบลงทุนควรอยู่ที่ 35%  ขณะที่รัฐบาลตอนนี้ก็ต้องการกระตุ้นผ่านเงินดิจิทัล ซึ่งก็เป็นแค่มาตรการชั่วคราว 
 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องสังคมสูงอายุ โดยปัจจุบันประชากรไทย 65% ต้องดูแลประชากรที่ไม่ได้ทำงาน ซึ่งมีผู้สูงอายุประมาณ 35% ซึ่งในช่วง 10 ปีข้างหน้าก็จะแตกต่าง ผู้ที่ทำงานจะเหลือแค่ 55% ส่วนคนที่ไม่ทำงานจะเพิ่มเป็น 45% โดยจะเป็นการเพิ่มขึ้นของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป

"ภายใต้กรอบทั้งหมดดังกล่าวเหล่านี้ เป็นคำถามว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร โดยสิ่งที่จะทำได้ และยากมากก็คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวให้ได้ 5% เพราะที่ผ่านมาเติบโตแค่ 2-3 % และที่กระตุ้นอยู่เวลานี้ก็เป็นการชั่วคราวเท่านั้น"

รศ.ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า การจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ 5% ต้องมีการปรับเรื่องโครงการแข่งขัน และการทำให้ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น หรืออัพสเกล เพราะฉะนั้นภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าวจึงหนีไม่พ้นการพึ่งพานโยบายการคลัง ดังนั้น จึงมุ่งมาที่การจัดเก็บภาษี โดยหากเป็นภาษีนิติบุคคล หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รัฐบาลก็มีการผ่อนปรน เพื่อหวังผลให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนภาษีที่เกี่ยวข้องกับสรรพากรก็ลดลง จากการมี FTA กับต่างประเทศ เพราะฉะนั้นจึงต้องมาขยายเรื่องภาษีมรดก หรือภาษีที่ดิน และอาจจะมีภาษีใหม่ แต่ภาษีรูปแบบหนึ่งที่สำคัญมากก็คือภาษี VAT ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่า ภาษี VAT เมื่อมาถึงจุดหนึ่งก็มีความจำเป็นต้องขึ้น เพียงแต่ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านสภาพเศรษฐกิจ และการเมืองในปัจจุบัน รัฐบาลจะกล้าปรับขึ้นได้มากขนาดไหน เพราะประชาชนยังมองว่าอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่อยู่ 

อย่างไรก็ดี การขึ้น VATจะกระทบทั้งผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ที่มีรายได้มาก หรือเรียกว่าคนจนและคนรวยกระทบไปทั้งหมด สิ่งที่บอกได้ก็คือข้อจำกัดดังกล่าวจำเป็นต้องขึ้น เพียงแต่บริบททางการเมือง และทางด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลจะสามารถมีเจตจำนงทางการเมืองที่จะมีการขึ้น VAT หรือไม่ เพราะขึ้นในเวลาที่ประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลช่วย รั{บาลก็ช่วยด้วยการหารายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการขึ้น VAT ก็จะไปกระทบกับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เพราะสินค้าหรืออะไรต่าง ๆ ก็จะขึ้นตามไปด้วย

"ในความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งรัฐบาลคงมีความจำเป็นจะต้องปรับขึ้น VAT เพียงแต่บริบททางการเมือง และเศรษฐกิจจะเอื้อต่อการปรับขึ้นหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินของรัฐบาล"

หากถามว่าเวลานี้รัฐบาลควรปรับขึ้น VAT หรือไม่ ยังไม่ต้องการแสดงความคิดเห็นแบบฟันธงชัดเจน ต้องการให้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาล แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดก็สะท้อนให้เห็นว่า ด้านหนึ่งก็มีความจำเป็นต้องปรับขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหน ยกเว้นว่ารัฐบาลชุดนี้จะสามารถแก้ปัญหา หรือปรับปรุงเรื่องขีดความสามารถทางการแข่งขัน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตได้ 5% ต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนทำได้ เพราะฉะนั้นในอนาคต หรือปัจจุบันการแก้ปัญหาคงหนีไม่พ้นการขึ้นVAT แต่ด้วยบริบทจึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่ต้องตัดสินใจ