นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวบางช่วงในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีประเทศ โดยปัจจุบันการจัดเก็บรายได้ ฐานภาษีเราต่ำ ซึ่งภาษีบริโภค หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) วันนี้อยู่ที่ระดับ 7% โดยเว้นจากกฎหมายที่ระบุให้เก็บได้ถึง 10% ขณะที่ทั่วโลกจัดเก็บภาษี Vat เฉลี่ยสูงถึง 15-25% นั่นแปลว่า วันนี้เราเก็บภาษีบริโภคในอัตราที่ต่ำอยู่
สำหรับภาษีบริโภค เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ผมอยากบอกว่า หากเก็บสูงขึ้นในสัดส่วนที่เหมาะสม จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนรายได้ต่ำอยู่รอด โดยช่องว่าระหว่างรายได้คนรวยและคนจนจะลดลง เพราะจะนำรายได้เข้ากองกลาง และนำมาส่งผ่านให้คนรายได้น้อยผ่านมาตรการต่างๆ เช่น สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การศึกษา และการรักษาพยาบาล เป็นต้น
นอกจากนั้น สามารถนำเงินกองกลางไปสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับนักธุรกิจในประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ให้มีต้นทุนต่ำ เช่น บ่อบำบัดน้ำเสีย การขนส่ง ต้นทุนพลังงาน เป็นต้น เมื่อต้นทุนต่ำการส่งออกก็จะมีต้นทุนที่ต่ำลง
นายพิชัย กล่าวว่า หลายท่านฟังแล้วอาจจะรู้สึกแปลก การเก็บภาษีเยอะขึ้นจะทำให้ช่องว่างเล็กลงอย่างไร ก็เรียนว่า ทุกประเทศก็จ่ายเหมือนกัน เช่น จีนเก็บภาษี Vat 19% สิงคโปร์ 9% จากเดิมที่อยู่ 5% แต่เรายังอยู่ที่ 7% และหลายประเทศในยุโรปขึ้นไปหลักเกือบ 20%
หากถามว่าทำไม สมการง่ายๆ คือ ภาษีบริโภคเก็บจากทุกคน แน่นอนว่าการบริโภคเป็นไปตามฐานะ หมายความว่า เราเก็บภาษีอัตราต่ำ แปลว่า ทุกๆ คนจ่ายต่ำ เงินที่ไปกองกลางก็เป็นเงินยอดต่ำ การจะส่งกลับเข้ามาก็มีข้อจำกัด
อย่างไรก็ดี ถ้าเก็บสูงขึ้นคนรวยมากๆ จ่ายสูงขึ้น คนรวยปานกลางจ่ายสูงขึ้น เงินกองกลางก็ใหญ่ขึ้น สามารถหยิบเงินกองกลางมาส่งผ่านให้กับคนรายได้ เพราะการจัดงบประมาณไม่สามารถส่งผ่านไปได้ นั่นแปลว่า การเก็บภาษีบริโภคจะส่งผ่านไปยังคนรายได้น้อย ผ่านมาตรการต่างๆ
“การเก็บภาษีสูงเป็นเรื่องที่เราจะต้องพิจารณาอีกที ในแง่นโยบายการเงินทางด้านรายได้ของภาครัฐ ซึ่งผมนอนคิดทุกคืนว่าจะทำอย่างไร ก็จะทำให้คนเข้าใจก่อน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน”