บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ นัดแรก กางเป้าดึงลงทุน 5 ปี ทะลุ 5 แสนล้าน

04 ธ.ค. 2567 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2567 | 09:36 น.

รัฐบาลประชุมบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ นัดแรก เคาะแผนยุทธศาสตร์ กางเป้าหมายดึงเงินลงทุนของนักลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ภายในระยะ 5 ปี หวังไทยเป็นฐานผลิตต้นน้ำ

วันนี้ (4 ธันวาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์) ซึ่งมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง 

รวมทั้งรับทราบแผนยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย พร้อมตั้งอนุกรรมการ 2 ชุด กำกับการจัดทำยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากร ตั้งเป้าหมายดึงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ในระยะ 5 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2568 – 2572) เพื่อยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงในภูมิภาค

 

นายกฯ ประชุมคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์)

 

"เซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป ถือเป็นหัวใจสำคัญเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานของอุปกรณ์อิเลกทรอนอกส์ทุกชนิด ทั้งโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า เครื่องจักร หรือเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตสูงมาก มีการประเมินว่า ตลาดจะโตถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2030 มาจากการเติบโตจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งวันนี้ผู้ลงทุนหลัก ๆ ในโลกแข่งขันกันเข้มข้นมาก และโยกย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในการดึงการลงทุนนี้" นายนฤตม์ ระบุ

ดันไทยพัฒนาอุตสาหกรรมชิปต้นน้ำ

นายนฤตม์ กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกมายาวนาน โดยในปี 2566 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มียอดส่งออกสูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ในจำนวนดังกล่าว มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ เช่น วงจรรวม (IC) เซมิคอนดักเตอร์ไดโอด และอุปกรณ์ต่างๆ มีมูลค่าสูงถึง 5.1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตสำคัญในห่วงโซ่อุปทานกลางน้ำและปลายน้ำของอุตสาหกรรม เช่น การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ (OSAT) และการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB)  ดังนั้น การเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การออกแบบวงจรรวม (IC Design) และการผลิตแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) 

 

บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ นัดแรก กางเป้าดึงลงทุน 5 ปี ทะลุ 5 แสนล้าน

 

ด้วยเหตุนี้การมีแผนยุทธศาสตร์ และมีนโยบายสนับสนุน จึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความมั่นคงและต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงได้ และการจัดตั้ง บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ เพื่อสร้างโรดแมประดับประเทศ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะวางรากฐานให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยเอาจริงกับอุตสาหกรรมนี้

เคาะยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์

อย่างไรก็ตามในการประชุมบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ครั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางยุทธศาสตร์เพื่อเร่งสร้างระบบนิเวศที่ครบวงจรและแข่งขันได้ในระดับโลก 2 เรื่อง ดังนี้

1. การจัดทำยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยเห็นชอบให้จัดจ้าง ที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งในระดับนโยบาย ครอบคลุมตั้งแต่การประเมินศักยภาพของประเทศไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน และในระดับปฏิบัติการ 

ตั้งแต่การจัดทำแผนดึงดูดนักลงทุนรายสำคัญอย่างน้อย 10 บริษัทชั้นนำระดับโลกให้เข้ามาลงทุนออกแบบและผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับประเทศผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อร่วมกันพัฒนาห่วงโซ่อุปทานระดับโลกและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

2. การพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยรับทราบแผนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการผลิตบุคลากรเฉพาะทางและนักวิจัยระดับสูง 84,900 คนภายในปี 2573 ผ่านโครงการ Upskill และ Reskill หลักสูตรการศึกษารูปแบบใหม่ เช่น Sandbox และโปรแกรมฝึกงานนานาชาติ 

รวมถึงการตั้งศูนย์ฝึกอบรม 6 แห่ง พร้อมแผนสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติ เช่น ศูนย์ผลิต Wafer Fabrication และศูนย์วิจัยและพัฒนา เพื่อเสริมความเชื่อมั่นและสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทย

 

บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์ นัดแรก กางเป้าดึงลงทุน 5 ปี ทะลุ 5 แสนล้าน

 

เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2561 - กันยายน 2567 มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมกว่า 1,213 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 876,328 ล้านบาท โดยในช่วง 2 ปีหลัง มีการลงทุนในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น

“การเตรียมความพร้อมคน พื้นที่สาธารณูปโภค ทั้งน้ำประปา และไฟฟ้า และมาตรการสนับสนุนของรัฐมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมาย ดึงการลงทุน 5 แสนล้านบาท ในช่วง 5 ปี ซึ่งในอาเซียนนั้น มีแหล่งที่รองรับการลงทุนทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย เป็น 4 ประเทศหลัก ๆ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันในการรองรับการลงทุน เช่น ที่ประเทศไทยก็มีการลงทุนขนาดใหญ่ของสหรัฐมาลงทุนต้นน้ำเป็นพันล้าน ก็หวังว่าจะมีมาเพิ่มเติม” เลขาธิการบีโอไอ กล่าว

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ประชุมบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์)

 

อย่างไรก็ตามมองว่า เป้าหมายสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญเป็นพิเศษ นั่นคือ เซมิคอนดักเตอร์ หรือชิปที่ใช้ในอุปกรณ์พลังงานสูง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์กักเก็บพลังงาน และอุปกรณ์ภายในดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพดึงดูดการลงทุนในด้านนี้มากกว่าหลายประเทศ