นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แม้ทิศทางแนวโน้มการลงทุนไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนไทยในปี 2568 ใน 5 ด้านที่สำคัญ ได้แก่
1.Geopolitics : โดยเฉพาะสงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐ และจีน ที่มีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้น ในอนาคตอันใกล้ จะมีมาตรการกีดกันการค้า กีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีและซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์, EV, แบตเตอรี่ จะส่งผลต่อทิศทางการลงทุนอย่างมาก ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องมีการกระจายความเสี่ยงและหาฐานการลงทุนระยะยาวที่มั่นคงให้ได้ ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบจากมีความเป็นกลาง ไม่อยู่ในวงขัดแย้ง จึงเป็นแหล่งรองรับการลงทุนจากทุกฝ่ายได้
2.Green Transformation : ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ทำให้เกิดกฎกติกาการค้าแบบใหม่ที่บังคับให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปรับตัวไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอน การปรับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางการลงทุนในอนาคต ประเทศไทยก็มีศักยภาพในเรื่องนี้ โดยมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนสีเขียว โดยกระทรวงพลังงานกำลังจัดทำกลไกจัดหาพลังงานสะอาด
3.Global Minimum Tax : การปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศของ OECD ซึ่งหลายประเทศจะเริ่มออกกฎหมายเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ขั้นตํ่าที่ร้อยละ 15 ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนและการวางแผนลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ และส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ต้องปรับปรุงระบบการส่งเสริมการลงทุนใหม่ และเกิดการแข่งขันดึงดูดการลงทุนด้วยมาตรการใหม่ ๆ ที่มิใช่ภาษีมากขึ้น สำหรับประเทศไทย กระทรวงการคลังและบีโอไอ กำลังร่วมกันเสนอกฎหมายเพื่อออกมาตรการใหม่รองรับในเรื่องนี้ด้วย
4.Technology Disruption : การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น AI, IoT, EV, ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มี skill set แบบใหม่สำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต บีโอไอมีการออกมาตรการหลายด้านเพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการให้เปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ได้ เช่น มาตรการส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart and Sustainable Industry และการร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.)ในการเตรียมพร้อมบุคลากรในสาขาเป้าหมาย เช่น เซมิคอนดักเตอร์, PCB, ดิจิทัลขั้นสูง เป็นต้น
5.Talent War : ผลของการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมทั้งการที่หลายประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการแย่งชิงบุคลากรทักษะสูงจากทุกประเทศทั่วโลก ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น วีซ่าประเภทพิเศษ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและการอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ เพื่อดึงดูดบุคลากรกลุ่ม Talent ให้เข้ามาอยู่อาศัย ลงทุนทำธุรกิจ ช่วยทำงานพัฒนาประเทศ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยประเทศไทยก็มีการออกมาตรการพิเศษ เช่น Long-term Resident Visa (LTR Visa), Smart Visa รวมทั้งศูนย์ One Stop Service ด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานที่บีโอไอดำเนินการร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) และกระทรวงแรงงาน