คลัง-ธปท. เปิดลงทะเบียนแก้หนี้ “คุณสู้ เราช่วย” 12 ธ.ค.นี้

11 ธ.ค. 2567 | 08:51 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2567 | 11:50 น.

คลัง-ธปท. ผนึกธ.พาณิชย์-แบงก์รัฐ เปิดลงทะเบียนแก้หนี้ “คุณสู้ เราช่วย” 12 ธ.ค.นี้ คาดหนี้ครัวเรือนลด 10% เฟสต่อไป เล็งเติมเงิน 1 ลล. ให้สินเชื่อชนบท

นายพิชัย  ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-Banks) บางแห่ง ได้ลงนามความร่วมมือ มาตรการชั่วคราวเพิ่มเติม ภายใต้ชื่อโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” 

นายพิชัย  ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม ครอบคลุมลูกหนี้รวมจำนวน 2.1 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านราย และมียอดหนี้รวมประมาณ 8.9 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจากการดำเนินมาตรการดังกล่าว จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ให้ลดลงมากว่าหลาย 10% 

สำกรับโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จะเปิดลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 12 ธ.ค.67 ถึงวันที่ 28 ก.พ.68 ประกอบด้วย 2 มาตรการ ผ่านเว็บไซต์ https://www.bot.or.th/khunsoo ได้แก่

มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” 

เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและพักภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ซึ่งปีแรกเริ่มชำระเงินต้น 50% ปีที่ 2 ชำระ 70% และปีที่ 3 ชำระ 90%

ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะได้รับการยกเว้น หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอดระยะเวลาของมาตรการ (ชำระเงินตรงเวลาและไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกของการเข้าโครงการฯ) 

มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” มีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่วงเงินไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ 

โดยจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตให้กับลูกหนี้ โดยค่างวดที่ลดลงจะทำให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องเหลือสำหรับดำรงชีพเพิ่มเติมระหว่างอยู่ในมาตรการ ขณะที่ดอกเบี้ยที่ได้รับยกเว้นจะช่วยให้ภาระหนี้โดยรวมของลูกหนี้ลดลง

มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” 

เป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยลูกหนี้จะต้องเข้ามาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้บางส่วน 

ซึ่งมาตรการ “จ่าย ปิด จบ” นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก “หนี้เสีย” เป็น “ปิดจบหนี้” และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ แหล่งเงินของทั้ง 2 มาตรการ มาจาก เงินนำส่งเข้า FIDF ของธนาคารพาณิชย์ (ที่ได้รับการละเว้นจากการปรับลดอัตรานำส่งเงินฯ) จำนวน 39,000 ล้านบาท และเงินงบประมาณตาม มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อชดเชยให้แบงก์รัฐ 6 แห่ง จำนวนวน 38,920 ล้านบาท

ขณะที่ระยะต่อไป ภาครัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อที่อยู่ในชนบท ซึ่งจะพิจารณาเติมเงินเข้าไปเกือบ 1 ล้านล้านบาท ผ่านกลไกแบงก์รัฐ ส่วนธนาคารพาณิชย์ จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางดำเนินนโยบายการให้สินเชื่อผ่อนปรน โดยจะมีการพิจารณาอีกครั้ง อย่างถี่ถ้วน